เตือนซ้ำเออีซี-เอฟทีเอ มีแต่เดินหน้า พม่าเปิดสะพานเชื่อมลาวตุลาฯ 58 |
|
ประกาศเมื่อ
27 มีนาคม 2014 เวลา 11:33:44 เปิดอ่าน
1355 ครั้ง |
|
|
วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภาค 3 จัดให้มีกิจกรรมสัมมนาและศึกษาดูงานเครือข่ายการประชาสัมพันธ์เรื่อง “8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประตูการค้าสู่อาเซียน-จีน” ณ โรงแรมแม่โขง เดลต้า บูติค อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค. 57
โดยมีสื่อมวลชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อมูล รวมทั้งลงศึกษาดูงานในพื้นที่ ได้แก่ นายผ่านพบ ปลั่งประยูร ผอ.เศรษฐกิจ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ, น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมาร์ รวมถึงนายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย
นายผ่านพบได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในการรวมกลุ่มกันของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยเฉพาะในรูปแบบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และยังนำกลุ่มไปเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในรูปแบบของเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอไทย-จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเดินหน้า และถอยหลังไม่ได้
“คนไทยไม่ควรกลัวว่าจะสู้กับคนประเทศอื่นไม่ได้ เพราะคนไทยมีความสามารถ ทำได้”
นายผ่านพบยังหยิบยกกลุ่มประเทศยุโรปหรืออียูมาเป็นกรณีศึกษา รวมทั้งการเชื่อมโยงก็มีหลายมิติ ไม่ได้หมายถึงเส้นทางคมนาคมอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการลดต้นทุน การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ
ดังนั้น คนไทยจึงต้องปรับตัวและนักธุรกิจควรหาช่องทาง โดยหน่วยงานภาครัฐยินดีให้ข้อมูล โดยเฉพาะเชียงรายเป็นประตูของอาเซียนเชื่อมโยงสู่เมียนมาร์-สปป.ลาว และไปถึงจีนตอนใต้ด้วย
ด้านนายพัฒนาได้ชี้ถึงพัฒนาการของด่านพรมแดนที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือของไทยกับเมียนมาร์ รวมทั้ง สปป.ลาว และให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีของนักลงทุนที่สามารถนำข้อตกลงในเขตการค้าเสรีอาเซียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยการใช้แหล่งผลิตสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ 40% และประเทศไทยอีก 60% ทำให้สามารถหาแหล่งผลิตที่มีความเหมาะสมกับสินค้าได้มากขึ้น
ขณะที่เชียงรายมีข้อได้เปรียบคือ ยังมีข้อตกลงในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ซึ่งมีประเทศจีนเป็นส่วนหนึ่งของจีเอ็มเอสด้วย โดยรถบรรทุกสินค้าในกลุ่มจีเอ็มเอส สามารถขนส่งสินค้าผ่านถนนอาร์สามเอ อ.เชียงของ จ.เชียงราย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ และถนนอาร์สามบี อ.แม่สาย-เมียนมาร์-จีนตอนใต้ ที่ตรวจเฉพาะต้นทางกับปลายทางได้เลย
โดยมีทางเลือกถึง 2 ทาง คือ นอกจากรัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณ 12,000 ล้านให้สภาความมั่นคงแห่งชาตินำไปพัฒนาด่านพรมแดนต่างๆ เพื่อยกระดับให้มีประสิทธิภาพรองรับมากขึ้นแล้ว ยังมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงแสน-จีนตอนใต้ อีกทางหนึ่ง
“สินค้าจากกลุ่มอาเซียนสามารถส่งไปเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 วัน แต่หากขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านทางทะเลต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 วันจึงจะไปถึงเมืองคุนหมิง”
น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า เส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งในส่วนของพม่าก็มีเส้นทางอาร์สามบี มีเมืองตองจี เป็นศูนย์กลางของรัฐฉาน จากตองจี มีเส้นทางเชื่อมไปถึงเมืองลาเชียว-มูเซ ซึ่งเป็นจุดที่มีการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงสุดของพม่า
นอกจากนี้เมียนมาร์ยังทำสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกเชื่อมกับ สปป.ลาว ที่เมืองไจ่ละ ของพม่า-เมืองลอง สปป.ลาว ห่างจากท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินของรัฐฉาน ประมาณ 68 กิโลเมตร
เมื่อข้ามสะพานไปยังเมืองหลวงน้ำทา สปป.ลาว เพียงประมาณ 60 กิโลเมตร สามารถย่นระยะทางในถนนอาร์สามเอ และอาร์สามบี ได้ร่วม 100 กิโลเมตร
และล่าสุดรัฐบาลพม่าประกาศว่าสะพานจะแล้วเสร็จเพื่อเปิดใช้งาน 31 ต.ค. 2558 ก่อนการเป็นเออีซีของกลุ่มอาเซียนด้วย |
|
|
|
|
|
|