x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ

โครงการพระราชดำริ..ดอยบ่อ ของพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวเขา ให้ได้รับการเรียนรู้เกษตรแผนใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย จัดสรรที่ทำกินที่เหมาะสม ที่สามารถทำการเกษตรได้ทั่วทั้งปี มีระบบน้ำที่เอื้อต่อการเกษตร ชาวบ้านที่มาร่วมในโครงการจะเริ่มจากหมู่บ้านไกล้เคียงหลังจากนั้นจะทยอยขยายสู่หมู่บ้านที่ไกลออกไปตามลำดับ ภายในโครงการพระราชดำริ ได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย 

ประวัติความเป็นมา

ดอยบ่อเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,345 เมตร ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของตำบล ยอดเขามีบ่อน้ำ แต่ในปัจจุบันไม่มีน้ำขัง อันเนื่องมาจากสภาพป่าถูกทำลายลงไปมาก


พ.ศ. 2480 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณดอยบ่อซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สภาพป่าเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ บ่อน้ำมีน้ำขังไว้สำหรับบริโภคได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในสมัยนั้นได้ให้ทหาร ตำรวจ และราษฎร ขึ้นมาประจำบนดอยบ่อเพื่อเฝ้าระวังเครื่องบินที่จะมาทิ้งระเบิดจังหวัดเชียงราย โดยกลางคืนใช้สัญญาณไฟ และกลางวันใช้สัญญาณกระจกเงา เพื่อเปิดสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชน ลงหลุมหลบภัยได้ทัน


พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผ่านไปแล้วชาวเขาเผ่าเย้ากลุ่มหนึ่งประมาณ 30 หลังคาเรือน ได้พากันอพยพขึ้นมาอยู่บนดอยบ่อบริเวณขุนห้วยแม่ซ้ายและชาวเขาเผ่าอาข่าอีกกลุ่มหนึ่งได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณขุนห้วยโป่งผำ และชาวเขาเผ่ามูเซออีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่บริเวณขุนห้วย แม่สักกอง ชาวเขาทั้ง 3 กลุ่มได้พากันแผ้วถางป่าเพื่อเอาพื้นที่ปลูกฝิ่นและทำไร่ข้าว ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมากจนดินหมดความอุดมสมบูรณ์ ชาวเขาเผ่าเย้าและ อาข่า จึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นคงเหลือแต่เผ่ามูเซอที่ยังอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้สภาพป่าบริเวณขุนห้วยแม่สักกองถูกทำลายมากที่สุด และบริเวณห้วยอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เนื่องจากถูกชาวเขาบริเวณข้างเคียงได้พากันเข้ามาทำไร่เลื่อนลอย เช่น ไร่ขิง ไร่ข้าว และไร่ข้าวโพด และยังได้ล่าสัตว์ป่าจนหมดไปหลายชนิด แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2488 บริเวณดอยบ่อ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าขนาดใหญ่นาๆ ชนิด เช่น ช้าง กระทิง เสือ เก้ง กวาง ฯลฯ แต่ปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่สัตว์ป่าขนาดเล็กเท่านั้น เช่น เก้ง หมูป่า เห็น ลิง ไก่ป่า ฯลฯ


14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ได้เชิญ คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยราชเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษมาตรวจดูพื้นที่ดอยบ่อเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ข้าราชการและองค์กรท้องถิ่น เช่น หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ซ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยาว ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยาว กำนันตำบลแม่ยาว และหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ยาว ได้พากันขึ้นมาต้อนรับและได้เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในบริเวณนี้ เช่น ปัญหาการแผ้วถางป่า ปัญหายาเสพติด และปัญหาความยากจนของประชาชนจน คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ รับปากที่จะนำขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ


วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตร พื้นที่ดอยบ่อ พลเอก ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ กล่าวถวายรายงานจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตร ที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ โดยมีแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 เป็นประธานคณะทำงาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เป็นผู้อำนวยการโครงการ โครงการมีพื้นที่ 15,000 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนสู่สภาพเดิม ในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตร ที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้รังวัดแบ่งพื้นที่ 543.73 ไร่ ไว้เพื่อทำแปลงสาธิตการทำการเกษตร แผนใหม่ เพื่อให้ราษฎรในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปทำในที่ดินของตนเอง และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของพลับพลาทรงงาน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตรงจุดพิกัด 47 QNC 702154 สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 956 เมตร หมู่บ้านที่อยู่ในโครงการ 3 หมู่บ้านได้แก่ บ้านจะต๋อ บ้านจะฟู หมู่ที่ 18 และบ้านลอบือ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีประชากรรวมกัน 617 คน 126 หลังคาเรือน

รวมข้อมูลประชากร

พื้นที่ดอยบ่อบริเวณที่สำรวจจัดทำโครงการไม่มีหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ แต่มีหมู่บ้านที่อยู่บริเวณ

ใกล้เคียง 3 หมู่บ้าน ดังนี้คือ

1.บ้านจะต๋อเบอ มี 53 หลังคาเรือน เป็นชาย 138 คน หญิง 136 คน มีประชากรรวม

274 คน เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 6 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง

2.บ้านจะฟู มี 19 หลังคาเรือน เป็นชาย 44 คน หญิง 45 คน มีประชากรรวม 89 คน

เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 5 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง

3.บ้านลอบือ มี 54 หลังคาเรือน เป็นชาย 136 คน หญิง 118 คน มีประชากรรวม 254 คน

เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง


สามารถติดตามภาพบรรยากาศการเดินทาง และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับดอยบ่อ ได้ตามกระทู้นี้

http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=125129.0


ข้อมูลติดต่อ : โทร / แฟ็กซ์ 053-701417, 081-8850821 (หัวหน้าศูนย์ฯ วุฒิชัย)

การเดินทาง : จากหมู่บ้านช้างกระเหรียงรวมมิตร ขึ้นไปจะมีป้ายบอกทางขึ้นสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงดอยบ่อ

ไม่เกิน 20 กิโลเมตร ระยะทางจากตรงนี้ ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนแนะนำให้ใช้รถ 4x4 จะสะดวก ถนนบางช่วงเป็นหลุมบ่อ หรือลาดชัน ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง