x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ /ร้านจันกะผัก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ" ขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง และพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี


ประวัติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ และหม่อมจำรัส จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เมื่อทรงศึกษาวิชาการชั้นต้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานทุนเล่าเรียนให้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2470 ได้ทรงเข้าเรียนชั้นมัธยมที่มหาวิทยาลัยเพดดี จบแล้วเสด็จเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ จนสำเร็จชั้นจูเนียร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายมาเรียนวิชาการเกษตรเกี่ยวกับพืชเมืองร้อนที่ประเทศฟิลิปปินส์ในมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์


หลังจากทรงรับปริญญาทางด้านการเกษตรแล้ว จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงเกษตราธิการ ในตำแหน่งเกษตรโทผู้ช่วย ประจำกองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กรมเกษตรและการประมง พร้อมกับทรงเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และโรงเรียนการเรือนด้วย จากนั้นทรงได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลได้เสด็จไปศึกษาปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อทรงจบการศึกษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาเข้ารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการตามเดิม ในตำแหน่งนักเกษตรโท กองการทดลองและส่งเสริม และทรงได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยลำดับ เป็นหัวหน้าแผนกพืชไร่ นักเกษตรเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมกสิกรรม คณบดีคณะเกษตร อธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ระหว่างปีพุทธศักราช 2516 ถึง 2517 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่คราวหนึ่ง เมื่อทรงพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2518 ทรงเป็นองคมนตรีที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา อันเป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้


หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นนักบริหาร นักวิชาการ และนักปฏิบัติการด้านการเกษตรที่ก้าวหน้าและปรีชาสามารถ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมด้านเกษตรกรรมของประเทศ ทรงวางรากฐานเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม พัฒนาสู่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ทรงมีบทบาทสำคัญในการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนโครงการวิจัยด้านพืช ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเกษตรกรรมของประเทศชาติอย่างมหาศาล นอกจากนั้น ยังทรงริเริ่มงานเกษตรอุตสาหกรรม งานด้านพืชเมืองหนาว และการผลิตอาหารสำเร็จรูป ทำให้สินค้าทางการเกษตรเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ทรงสนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาคหกรรมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งจัดตั้งสถานีวิทยุการเกษตรให้เป็นที่กระจายข่าวสารด้านวิชาการ ทรงได้รับเกียรติและการยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นพระยาแรกนาในพระราชพิธีแรกนาขวัญเป็นพระองค์แรก ทรงเป็นผู้แทนถาวรของประเทศไทยประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เป็นอภิมนตรีชุดแรกของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวสาลีระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ และได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2512


มงคลบั้นปลายพระชนม์ชีพ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงถึงแก่ชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 เมื่อพระชนม์ 84 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงปฏิบัติงานที่ก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน สมควรได้รับการยกย่องสถาปนาอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ให้สูงขึ้นให้สมกับความชอบและความดี ตามแบบอย่างอันมีมาแต่กาลก่อน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2537

ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

- วัตถุประสงค์ของโครงการ

- ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรด้านพันธุ์พืช

- ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพันธุ์พืชแต่ละพื้นที่

- เน้นการรวบรวม และคัดเลือกพันธุ์

- ร่วมมือพัฒนาพันธุ์พืชกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา

- ผลิตพันธุ์ลูกผสม และสายพันธุ์ใหม่

- เน้นพืชอาหาร


การดำเนินงาน สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรสร้างศูนย์ดังกล่าวในบริเวณที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนที่ อชร 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา ซึ่งกรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา


ในระยะแรก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมด้านพืชกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ


มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกันรวบรวมพันธุ์พืชอาหารพื้นบ้าน เพื่อที่จะคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเผยแพร่แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีพอสมควร มีความต้านทานโรคดีพอสมควร ให้ผลผลิตดีพอสมควร เพื่อให้เกษตรกรนำพันธุ์ไป

ขยาย หรือปลูกเองได้ในอนาคต


การปลูกพืชเพื่อทดลองนำร่องในช่วงแรก แบ่งเป็น 3 กลุ่มพืช รวมพื้นที่ 36 ไร่ ดังนี้

1. กลุ่มพืชไร่ จำนวน 20 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 6 ชนิด จำนวน 35 สายพันธุ์

2. กลุ่มพืชตระกูลแตง จำนวน 8 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 9 ชนิด จำนวน 72 สายพันธุ์

3. กลุ่มพืชผัก (ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน สมุนไพร) จำนวน 8 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 55 ชนิด จำนวน 61 สายพันธุ์

จากการทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า พืชที่มีศักยภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศในช่วงฤดูนี้ เจริญเติบโตดีอย่างเห็นได้ชัด มีดังนี้

กลุ่มพืชไร่ คือ ข้าวโพดสีม่วง ถั่วเหลือง และข้าวไร่

กลุ่มพืชตระกูลแตง คือ ฟักทอง แตง บวบ และแตงโม

กลุ่มพืชผัก คือ ถั่วฝักยาว ผักโขม มันเทศ งา และผักกาดกวางตุ้ง

แผนการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีแผนงานที่จะพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอ สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่ครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

ร้านอาหารจันกะผัก

จำหน่ายพืชผักที่เหลือจากการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ มีการขายเป็นผักสลัดและส้มตำซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ผลิตเอง ขายกาแฟและของที่ระลึก


เนื้อหาเพิ่มเติม

http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php?option=com_content&view=article&id=1064:2009-10-29-10-09-