x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

คอนเทนต์มาใหม่

เที่ยวเชียงตุง 3 วัน 2 คืน กับ จตุรพรทัวร์

รู้จักเชียงตุง...


    เชียงตุง เป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐฉาน อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า เป็นเมืองที่น่าไปเที่ยว หากอยากเห็นบ้านเมืองเมื่อ 30-40 ปีก่อนเป็นยังไงต้องลองไปเยี่ยมชมดู ในอดีตเชียงตุงก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเชียงราย-เชียงใหม่ ดังนั้นศิลปะภาษา ประเพณีของชาวเชียงตุงจึงละม้ายคล้ายคลึงกับบ้านเรา สามารถที่จะสื่อสารพูดคุยกับคนเชียงตุงโดยใช้ภาษากำเมืองคุยกันได้เลย ด้วยระยะทางหากจากด่านชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เพียง 165 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง กว่าจะถึงเมืองเชียงตุง  ...ทริปนี้ทีมงานเราได้เดินทางไปกับจตุรพรทัวร์ บริษัทที่นำเที่ยวไปเชียงตุงโดยตรง  เพื่อไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญในเชียงตุง เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อนำเรื่องราวมาเผยแพร่ให้ผู้อ่าน ได้รู้จักเมืองเล็กๆแห่งนี้ ที่ไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และเรื่องราวอันแสนเศร้า ที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรล้านนาและสยามประเทศ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้


    การเดินทางไปเที่ยวที่เชียงตุง ปัจจุบันทางการพม่าไม่อนุญาติให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางเข้าไป ดังนั้นเพื่อความสะดวกจึงต้องใช้บริการจากบริษัททัวร์ หรือเดินทางแบบแบ็คแพ็คไปกับรถตู้ทางฝั่งพม่าเท่านั้นซึ่งสามารถเดินทางไปได้ทุกวัน 


ในอดีต..

   เชียงตุงกับอาณาจักรล้านนาเคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน ตั้งแต่สมัยพญามังรายยึดครองเชียงตุงได้ พระองค์ได้ทรงให้ เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเป็นเจ้าฟ้าองค์แรกของเมืองเชียงตุง เมื่อ พ.ศ. 1786 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเชียงตุงจึงมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านนา  ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่า


    เมืองเชียงตุงใช้ระบบการเมืองการปกครองระบบเจ้าฟ้า มีทั้งหมด 13 พระองค์ เริ่มจากเจ้าฟ้าน้ำท่วม ราชบุตรของพญามังราย ต่อด้วยลูกหลานอีกหลายพระองค์ จนมาถึงเจ้าฟ้าจายหลวงองค์สุดท้าย ก็สิ้นสุดเจ้าฟ้าเชียงตุง  แต่เจ้าฟ้าที่มีบทบาทมากที่สุดในเชียงตุงจะเป็นช่วงการปกครองของ เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 5-7 ของไทย และสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ ของเชียงใหม่ พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุง ไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ จากนั้นเรื่องราวอันแสนเศร้าก็เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เมื่อนายพลเนวิน ผู้นำทหารพม่าในสมัยนั้น ได้สั่งให้ล้มล้างระบบเจ้าฟ้าต่างๆในรัฐฉาน รวมไปถึงเชียงตุง มีการจับตัวเจ้าฟ้าจายหลวง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเชียงตุงไปขังคุก และกักบริเวณอยู่ในเมืองย่างกุ้งจนสิ้นพระชนน์ ลูกหลานเจ้าฟ้าอีกหลายพระองค์ต้องหนีลี้ภัยออกนอกประเทศ และที่สำคัญได้สั่งทุบทำลายหอคำหลวง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุงในสมัยนั้น แม้ประชาชน พระสงฆ์จะคัดค้านก็ไม่เป็นผล จากนั้นจึงเปลี่ยนหอคำหลวงเป็นโรงแรม 


    จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงตุงคืนจากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ซึ่งใช้ข้ออ้างว่ามีประวัติและเชื้อชาติที่เหมือนกัน  ญี่ปุ่นจึงช่วยให้เมืองเชียงตุงกลับมาร่วมเข้ากับประเทศไทยได้อีกครั้ง  แต่ก็อยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ต้องคืนกลับให้แก่อังกฤษเหมือนเดิม เพราะญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก  นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งนัก หลังจากอังกฤษคืนเอกราชให้กับพม่า จนถึงปัจจุบันเชียงตุงจึงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศพม่า 


เรื่องราวของเชียงตุงยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวในรั้ววังเมื่อสมัยมีเจ้าฟ้าปกครอง และความลี้ลับเกี่ยวกับหอคำหลวงถ่ายทอดเป็นเค้าโครงละครไทยอีกหลายเรื่อง


ปัจจุบัน...

    ผ่านเรื่องราวมามากมาย ในวันนี้กลับมีสีสันของการท่องเที่ยวเข้ามาแต่งแต้ม ปัจจุบันเชียงตุงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีนผ่านท่าขี้เหล็ก ช่องทางด่านแม่สาย จ.เชียงราย โดยสินค้าที่ขนส่งมาจากจีนต้องผ่านเมืองเชียงตุง ดังนั้นสินค้าจีนที่เชียงตุง จึงมีราคาถูกกว่าที่ท่าขี้เหล็กหรือแม่สาย มีประชากรหลากกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทเขิน ไทใหญ่ ไทเหนือ ไทลื้อ ชาวจีน ชาวปะหล่อง ชาวแอ่น อาข่า อีก้อ ลาหู่ ลีซอ ลัวะ ยาง ชาวว้า ฯลฯ มีไทเขินเป็นคนพื้นเมืองมากอันดับหนึ่ง ไทใหญ่เป็นอันดับสอง มีแหล่งท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่อันมีเอกลักษณ์ประจำถิ่น เป็นเมืองที่ได้รับสมญานาม " เมืองสามจอม เจ็ดเชียง เก้าหนอง สิบสองเวียง "


    จุดประสงค์ที่เดินทางไปเชียงตุงก็เพื่อการท่องเที่ยว ปัจจุบันรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าได้ร่วมกันทำข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยอนุญาติให้ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ให้แก่ผู้ประสงค์จะเดินทางไปสู่เมืองเชียงตุง โดยมีกำหนดการเดินทางไปได้ไม่เกิน 7 วัน ไม่ต้องทำวีซ่า หรือ พาสปอร์ต ถ้าเรื่องเที่ยวแนะนำไปกับบริษัททัวร์เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด ครั้งนี้ทีมงานเราได้รับความอนุเคราะห์จากจตุรพรทัวร์ ในการดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ พร้อมที่พักและอาหารให้ เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าแล้วเดินทางไปกับรถตู้ได้เลย อยากเที่ยวแบบไหน ไปกันกี่คน บริษัทจัดทัวร์จัดให้ได้ทั้งหมด




ทริปวันแรก : จากเชียงรายถึงเชียงตุง


ทริปนี้เป็นการเดินทาง 3 วัน 2 คืน เป็นการไปเที่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศจะครึ้มฝนเป็นระยะ ลองดูเป็นแนวทางครับ สำหรับใครอยากไปชมบ้านเมือง เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเป็นยังไง เขาอยู่กันยังไง  จากเชียงรายไปเชียงตุงใช้เวลาราวๆ 3-4 ชั่วโมง 


เริ่มวันแรกออกจากเชียงราย ไปทำหนังสือผ่านแดนที่ อ.แม่สาย อย่าลืมพกบัตรประชาชนตัวจริงมาด้วย   ถ้ามากับทัวร์เขาจะจัดการให้เราทั้งหมด  แต่ถ้ามาเองก็อาจเสียเวลานิดหน่อย รถตู้จะมาจอดรอรับที่หน้าอำเภอ แล้วพาเราข้ามชายแดนท่าขี้เหล็กไปยังเมืองเชียงตุง



ข้ามด่านชายแดนแม่สาย - ท่าขี้เหล็ก  ก็ลงเดินถือเอกสารผ่านแดนชั่วคราวพร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริง เดินเข้าด่านพม่า 

ถ้าเอกสารครบถูกต้อง ก็เดินผ่านฉลุย  แล้วไปรอขึ้นรถที่จอดรอรับด้านหลังด่านได้เลย

จากนั้นเราก็เริ่มเหยียบแผ่นดินประเทศพม่า เรื่องการติดต่อสื่อสาร ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะบริษัททัวร์ที่เราเลือกเขามีซิมการ์ดของพม่า ให้เราเปลี่ยนพร้อมโปรเน็ตรายวันให้ ไม่ต้องเปิดโรมมิ่งให้เสียเงิน  หาโทรศัพท์สำรองอีกเครื่องหนึ่งไปใส่ซิม แล้วเปิดแชร์ Wi-Fi เพียงเท่านี้ เราก็ไม่พลาดการสื่อสารบนโลกออนไลน์


จัดการเรื่องซิมการ์ด กันเรียบร้อย ก็แวะเที่ยว สถานที่สำคัญในท่าขี้เหล็กก่อน  วัดพระเจ้าระแข่ง

วัดพระเจ้าระแข่ง หรือชาวพม่าเรียกว่า วัดไทยใหญ่ ภายในวัดนี้ประดิษฐานพระมหาเมี๊ยมุนีองค์จำลอง  เป็นวัดศิลปะพม่าผสมผสานมอญ ซุ้มประดับองค์พระประธานทำด้วยไม้จันทน์หอมสวยงามมาก


จากนั้นมาแวะชมเจดีย์ชเวดากอง  สร้างขึ้นจำลองจากองค์จริงที่ย่างกุ้ง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ของท่าขี้เหล็กที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเที่ยวชมกัน


ถ้าช่วงอากาศปกติ จะเห็นองค์เจดีย์สวยงามมาก พอดีเรามากันช่วยฝนปรอยๆ บรรยากาศท้องฟ้าจะครึ้มๆหน่อย

จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปยังเชียงตุง จากท่าขี้เหล็กไปถึงเชียงตุงก็ราวๆ 160 กว่ากิโล  ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สัญญาญเน็ตก็จะมีเป็นช่วงๆ ตามสัญญาญโทรศัพท์   อย่าลืมเปลี่ยนโซนนาฬิกาให้ตรงกับพม่านะครับ เพราะโซนเวลาบ้านเราจะเร็วกว่าพม่าประมาณ 30 นาที 

เมื่อถึงเมืองพยาก ก็ได้ครึ่งทางแล้ว จุดนี้ก็จะมีตลาดขายสินค้าพื้นบ้าน ของฝาก  มีจุดพักรถ และห้องน้ำ ส่วนมากก็จะจอดตรงจุดนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะพักทานข้าวมือเที่ยง

แม้จะกินมาแล้วนั่งหลับบนรถมาตลอดทางยังไม่หิว ก็ต้องกินถ้าไม่กินข้าวที่นี่ก็ต้องอดยาวไปกินในเมืองเชียงตุงกันเลย  ชื่อร้านอ่านไม่ออกหรอกครับ 

เห็นคนทานเยอะน่าจะอร่อย ^-^


เมนูมื้อแรกในต่างประเทศของเราวันนี้ น้ำพริกมะเขื้อส้ม (มะเขือเทศ) , ปลาทอด , ก๋วยเตี๋ยว  รสชาติส่วนตัวก็ว่าพอกินได้ คล้ายๆบ้านเรา


สุราขาว ขายกันได้อย่างเสรีตามร้านค้าทั่วไป

กินข้าวกลางวันเสร็จ ราวๆบ่ายสองโมง เราก็มาถึงเขตเชียงตุง  ไกด์นำพาเราขึ้นไปชมดอยเหมยก่อน  ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองเชียงตุง

เส้นทางค่อนข้างแคบและสูงชัน เสียดายวันนี้อดเห็นวิวสวยๆสองข้างทาง เพราะถูกปกคลุมไปด้วยหมอกฝน 

ก่อนถึงหมู่บ้านดอยเหมย แวะไปชมบ้านพักอังกฤษ ในสมัยที่ปกครองเชียงตุงอยู่ แต่หลังจากคืนเอกราชให้กับพม่า ปัจจุบันถูกปิดไว้ บ้านพักแห่งนี้ก็ใช้สำหรับให้นายทหารผู้ใหญ่ หรือบุคคลสำคัญของทางการพม่าใช้เป็นที่พัก เมื่อมาเยือนเชียงตุง

ลงมาอีกไม่ไกล เป็นโบสถ์คริสจักร ของชาวอาข่า ที่นี่ก็เหมือนบ้านเรา มีการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เป็นโบสถ์เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง และในพื้นที่เดียวกันยังใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็กยากจน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็จะนิยมนำเสื้อผ้ามือสองมาบริจาคให้กับเด็กๆ

ที่ทำการไปรษณีย์โบราณ ปัจจุบันที่นี่ก็ยังใช้ทำงานกันอยู่ 

ก็ยังแปลกใจเขาส่งไปรษณีย์กันยังไง เพราะบ้านแต่ละหลังไม่มีบ้านเลขที่เหมือนกับของเรา

อ่างเก็บน้ำบนดอยเหมย มีสะพานไม้เดินข้ามไปหาอีกฝั่งหนึ่งได้  ดอยเหมือยเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนยอดเขาสูง พอๆกับดอยตุงบ้านเรา สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี  จุดไฮไลท์ของหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาเยี่ยมชมก็จะเป็นต้นดอกนางพญาเสือโคร่ง ที่เมื่อถึงช่วงเวลาบานจะเป็นสีชมพูสะพรั่ง  

ซากุระ หรือดอกนางพญาเสือโคร่ง  ต้องมาชมในช่วงราวๆเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ครับ ตามคำบอกเล่าของไกด์ที่พาเราขึ้นไป เห็นบอกว่าถึงเวลาบานก็จะเป็นสีชมพูเต็มไปหมด  แต่เราไปช่วงฤดูฝน ก็เลยเห็นแต่กิ่งกับต้นเท่านั้น ^-^

เดินชมหมู่บ้านดอยเหมย  ดูบ้านเรือน สินค้าพื้นบ้าน วิถีชีวิตในชุมชน

ลงจากดอยเหมย เราก็เข้าสู่ตัวเมืองเชียงตุง ก็ค่ำมืดพอดี  มาเที่ยวที่เชียงตุงไม่ต้องนำอะไรมาเยอะแยะ ร้านค้าต่างๆก็จำหน่ายสินค้านำเข้ามาจากไทย บรรยากาศยามค่ำคืน ราวๆสี่ทุ่มเงียบสงบ


สามารถใช้เงินบาทไทยซื้อสินค้าได้เลย หรือจะแลกเป็นเงินจ๊าด สกุลเงินพม่า ตามร้านค้าหรือในตลาดก็มีจุดให้รับแลกอยู่  

1,000 จ๊าดก็ ตีเป็นเงินบาทไทย ได้ราวๆ 20-25 บาท แล้วแต่ร้านรับแลกอีกที

ที่พักในคืนนี้ โรงแรม GOLDEN WORLD HOTEL เป็นโรงแรมใจกลางเมือง สิ่งอำนวยความสะดวกก็ตามมาตฐโรงแรมทั่วไป น้ำอุ่น ทีวี แอร์ มีครบหมด

https://www.facebook.com/goldenworldhotel/

ออกจากโรงแรมตอนเช้า การเดินทางไปชมสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญต่างๆในตัวเมือง ตามอ่านต่อกันต่อที่ 


วันที่สอง : เชียงตุง เที่ยวไหนดี

http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=256


วันที่สาม : วันสุดท้ายที่เชียงตุง

 http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=257