x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

ชวนก๊วนเก๋า ย้อนฝันสานแรงบันดาลใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ ลองมองเมืองรอง ในแบบเชียงรายแต้แต้

        เที่ยวเชียงรายไปได้ทุกฤดู  เป็นอีกทริปของการเดินทางที่ประทับใจ ในเวลา 2 วัน 1 คืน บรรยากาศฝนตกปรอยๆ เช่นนี้ กับหลากหลายแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถชวนคนวันเก๋า ไปเที่ยวได้อย่างไม่ลำบาก เราได้เดินทางไปกับ " โครงการชวนก๊วนเก๋า ย้อนฝันสานแรงบันดาลใจ " ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย  ที่จะชวนมาเปิดประสบการณ์ใหม่ ลองมองเมืองรอง  ในแบบเชียงรายแต้แต้


เมื่อฝนมาเยือน ทำให้หลายชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง หลายคนไม่ชอบเที่ยวในช่วงนี้ แต่อยากให้ลองเปลี่ยนแนวคิดใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวในฤดูฝนนั้น ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเจอในช่วงเวลาอื่นเช่นกัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พืชพรรณ ดอกไม้ บรรยากาศฟ้าหลังฝน ล้วนทำให้เกิดภาพที่งดงาม อยู่ในความทรงจำได้เสมอ อย่างทริปนี้เราก็ไปกันในช่วงฤดูฝน 


ซึ่งจะพาไปชมจุดสนใจใน อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ กับเวลา 2 วัน 1 คืน ลองดูกันครับ ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวจุดไหนบ้างที่น่าสนใจ 

ทำไมเราถึงต้องไปเที่ยวที่นั่น...


แนวเขตชายแดนไทย-เมียนมา ...


      จากตัวเมืองเชียงรายใช้เวลาราวๆ หนึ่งชั่วโมง ก็ได้มาถึงบริเวณจุดนี้เป็นจุดแรกของการเดินทางครั้งนี้ จุดชมวิวดอยช้างมูบ ตั้งอยู่ในพื้นที่กองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ   ห่างจากสวนกุหลาบพันปีบนดอยตุงมาประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นหน่วยกำลังป้องกันชายแดน ไทย-พม่า ตั้งอยู่ชิดแนวเขตชายแดนไทยพม่า ปัจจุบันได้เปิดพื้นที่บางส่วนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ขึ้นมาชมวิวและมีจุดกางเต็นท์ให้พักค้างแรมได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เรามาถึงที่นี่ในช่วงตอนเช้า บรรยากาศวันนี้แดดไม่แรง มีฟ้าครึ้มนิดหน่อย แต่ข้างบนนี้ลมแรงพอสมควร อากาศบนนี้หนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิตอนนี้น่าจะราวๆ 20 องศา  สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,485 เมตร  เมื่อขึ้นมาเที่ยวก็อย่าลืมพกบัตรประชาชนมาด้วยนะครับ เดี๋ยวนี้พี่ๆทหารเขาขอดูบัตรก่อนขึ้นมาเที่ยว ในช่วงยามเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ ส่องกระทบพื้นหญ้าที่เป็นสีเขียว ออกมาเป็นโทนสีทองที่งดงาม  เมื่อเรามองไปทางด้านหน้าทางทิศหนือ จะเห็นบ้านเรือนชุมชนเล็กๆ วางตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา เป็นหมู่บ้านผาขวาง อยู่ในเขตประเทศพม่า แม้เห็นด้วยตาเปล่าแต่ก็ก้าวล้ำข้ามแดนไปไม่ได้ ส่วนด้านขวาถัดจากฐานทหารไทย ก็จะเป็นฐานทหารของฝั่งประเทศพม่าอีกเช่นกัน   และจากจุดนี้เรายังสามารถแวะเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆบนดอยตุงได้อีก หรือจะใช้เส้นทางนี้ลงสู่หมู่ บ้านผาฮี้้ แหล่งผลิตกาแฟคุณภาพระดับโลก  หรือ หมู่บ้านท่องเที่ยวผาหมี แล้วมาออกที่ตัวอำเภอแม่สายก็ได้


ข้างบนนี้เป็นจุดสูงที่สุด อากาศจึงหนาวเย็น มีลมพัดแรงตลอดทั้งปี  หากขึ้นมาเที่ยวในห้วงฤดูหนาว ด้านบนนี้จะมีร้านกาแฟสดให้บริการด้วย นักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางนี้ ก็มักจะขึ้นมาถ่ายรูปชมวิวเสมอ ด้านล่างนี้เป็นหมู่บ้านผาขวาง อยู่ในเขตประเทศพม่า

ภาระกิจหลักของพี่ๆทหารในฐานปฏิบัติการช้างมูบ ก็ป้องกันการรุกรานชายแดนและยาเสพติดของผิดกฏหมายต่างๆ ก็จะมีแนวบังเกอร์ ที่จะใช้เมื่อยามมีข้าศึกรุกราน ก็เป็นจุดสนใจที่คนนิยมขึ้นมาเก็บภาพประทับใจ เอาไว้เป็นที่ระลึกหรือส่งต่อโซเซียลให้บางคนได้รับรู้ว่า วันนี้ เวลานี้เรามาอยู่ที่นี่

เราใช้เวลาพักผ่อนสายตา สูดอากาศบริสุทธิ์  ถ่ายรูป ชมวิวสวยๆ ของดอยช้างมูบ ราว 40 นาที ต้องรีบไปจุดอื่นต่อ เพราะวันนี้อีกหลายที่ ที่จะต้องเดินทางไปเก็บข้อมูล เพื่อมาสร้างแรงบันดาลใจให้วัยเก๋า ทั้งหลาย  ...เดี๋ยวเราจะเดินทางต่อไปที่ " พระธาตุดอยตุง " ห่างจากจุดนี้ประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อไปไหว้พระขอพรและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงราย


พระธาตุดอยตุง ...ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงราย ...


ลงจากจุดชมวิวดอยช้างมูบมาราวๆ 5 กม. ก็มาถึง วัดพระธาตุดอยตุง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ด้านหลังมีพระธาตุตั้งตระหง่านอยู่ 2 องค์ และใครที่มีปีเกิดตรงกับปีหมูหรือปีกุน ก็ไม่ควรพลาดที่จะต้องมาสักการะสักครั้ง เพื่อสร้างสิริมงคลในชีวิต เพราะพระธาตุเจ้าดอยตุง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีกุน การเดินทางสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นมาเที่ยวได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงนี้ บรรยากาศสองข้างทางที่รถวิ่งขึ้นมา บางช่วงจะได้เห็นไอหมอก ที่ลอยขึ้นมาจากภูเขาเบื้องล่าง เป็นผลมาจากความชุ่มชื้นของฤดูฝน ที่ผู้สัญจรไปมาแถวนี้คงเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเราแล้ว นานๆได้เจอ ก็เป็นภาพที่สวยงามแปลกตาได้เหมือนกัน

พระธาตุดอยตุง วางตัวอยู่บนส่วนของหน้าอก บนสันเขาดอยนางนอน  มีความสูงประมาณ 5 เมตร แต่เดิมมีองค์เดียว เสื่อมโทรมมานานหลายปี ต่อมาพญามังราย กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงราย ได้สร้างขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งองค์ จึงมีพระธาตุตั้งอยู่คู่กัน 2 องค์อย่างที่เห็น และท่านครูบาศรีวิชัย ก็ได้มาทำการบูรณะขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้เป็นศูนย์รวมใจคนเชียงราย      อ่านต่อกันได้ที่นี่ครับ...

ต้นตุง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณของวัด เป็นสัญลักษณ์แห่งศิริมงคล ความสดใสและมีโชค นำไปปักที่ใดก็ทำให้เกิดมงคลที่นั่น

ตามความเชื่อของชาวล้านนา  และทุกประมาณช่วงเดือนมีนาคม บนวัดพระธาตุดอยตุงแห่งนี้จะมีงานประจำปี สรงน้ำพระธาตุดอยตุง ที่ประชาชนจะพร้อมใจกันจัดขบวนแห่ เครื่องสักการะ เพื่อขึ้นมานมัสการพระธาตุเจ้าดอยตุง โดยจะเดินขึ้นมาตั้งแต่ถนนด้านล่าง จนถึงลานวัด ด้วยระยะทางหลายสิบกิโลเมตร  

หลังจากไหว้พระขอพรกันเสร็จ ตอนนี้เวลาเกือบเที่ยงวัน เราจะไปกินข้าวกันที่ " ครัวตำหนัก " เป็นร้านอาหารอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าพระตำหนักดอยตุง แหล่งท่องเที่ยวที่มีดอกไม้สวยงามตลอดทั้งปี เที่ยวได้ทุกฤดูกาล แต่วันนี้เรามาลองชิมอาหารกันที่ครัวตำหนัก หลากหลายเมนูเพื่อสุขภาพ ทั้งน้ำพริก แหนมซี่โครงทอด ต้มยำปลาแม่น้ำโขง ผัดเห็ด ฯลฯ อร่อยทุกรายการ ^-^... ซึ่งจากตรงนี้เดี๋ยวช่วงบ่ายจะไปกันที่หมู่บ้านที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย

ชมพระสานองค์ใหญ่ ศูนย์รวมใจของชุมชน...


     ก่อนจะถึงหมู่บ้านปางห้า เราแวะเที่ยว วัดหิรัญญาวาส อุทยานเวฬุวัน ไปชมพระเจ้าสานปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ทีบ้านเหมืองแดงน้อย ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่พระประธานในวิหาร สานด้วยไม้ไผ่ หน้าตักกว้าง 9.9 ศอก สูง 19 ศอก เป็นพระพุทธรูป ลักษณะพระสิงห์หนึ่งเชียงแสน ศิลปะแบบล้านนาที่สร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งองค์ ใช้เวลาสร้าง 99 วัน ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด 39,000 ท่อน ชื่อว่า พระสิงห์สานชนะมาร เคลือบเงาดำด้วยยางของตันรัก และที่สำคัญ ไม้ไผ่ที่นำมาสานก็มีที่มา น่าค้นหา จากการสอบถาม ทราบว่าพระครูหิรัญญาวาส เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส ท่านได้นำไม้ชนิดนี้มาจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นไม้มงคล มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเขาสูงมีชื่อตามท้องถิ่นว่า " ไม้มุง " เป็นไม้ในตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง ลักษณะเด่นคือเหนียว มอดไม่กิน เหมาะสำหรับมาสานเป็นพระพุทธรูป โดยในหนึ่งปี ชาวบ้านที่ดูแลไม้มุง จะให้ตัดไม้นี้ได้แค่ครั้งเดียว ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น และทางพม่าเองก็จะมีการเสี่ยงทายเป็นผู้กำหนดว่าแต่ละปี วัดไหนที่ขอไป จะโชคดีเป็นผู้ได้สิทธิ์ตัดไม้ไผ่ชนิดนี้ ...เมื่อเห็นถึงศรัทธาของชาวบ้านร่วมกันทำถึงขนาดนี้แล้ว จึงพลาดไม่ได้ที่จะต้องแวะมาชม   


อ่านรีวิวกันต่อที่นี่

http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=70


ปักหมุด หยุดเวลา หมู่บ้างปางห้า


    ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยเก๋า เพราะนอกจากจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน พักแบบโฮมสเตย์ที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน ย้อนวันวานในอดีต หวนคิดถึงวันเก่าๆ ยังเป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่แปลกใหม่สำหรับใครหลายคน


   ที่หมู่บ้านปางห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย เป็นหมู่บ้านที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่น่าสนใจ มีที่พักเป็นโฮมสเตย์และกิจกรรมที่หลากหลาย และที่นี่ยังเป็นต้นแบบของการบริการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่เคยได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย หนึ่งในนั้นก็เป็น จินนาลักษณ์มิราเคิลออฟสา เป็นวิสหกิจชุมชนทำกระดาษสา เก่าแก่ในหมู่บ้าน ที่ยังคงทำกระดาษสา ด้วยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ มานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ เช่นการทำ Workshop จากกระดาษสา แช่เท้าสมุนไพร สินค้าหัตถกรรมทำมือ การแปรรูปทำสินค้าจากกระดาษสา และตอนนี้ยังต่อยอดด้วยการทำผลิตภัณฑ์ใยไหมทองคำ ภายใต้ชื่อแบรนด์ CEILK ซึ่งเป็นเครื่องสำอาง เพื่อมาร์คหน้า จากใยไหม ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง ได้รับรางวัล นวัตกรรมดีเด่นจากหลายหน่วยงาน    และที่นี่ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อาศัยอยู่รวมกันหลายชาติพันธุ์อย่างกลมกลืน และยังคงยึดวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมไว้  


จะเอาให้ทั่วต้องใช้เวลาอยู่กับชุมชนนี้สัก 2-3 วัน ใช้ชีวิตช้าๆ เรียนรู้อยู่กับชาวบ้านปางห้า เราเชื่อว่าจะเป็นการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ สำหรับพาวัยเก๋า ไปย้อนวันวาน  


เรื่องของหมู่บ้านปางห้า และกระดาษสาจินนาลักษณ์ ยังมีต่ออีก ตามมาดูว่าที่นี่มีอะไรบ้างที่น่าเที่ยว น่าสนใจ

http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=66



ท่าขันทอง ...เส้นทางท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน


         เมื่อกระแสการท่องเที่ยวแบบสโลไลฟ์ เป็นสิ่งที่หลายคนตามหา อยากเห็น อยากสัมผัสกับบรรยากาศ การท่องเที่ยวในอีกมุมหนึ่ง หากจะเอาให้เห็นแบบเชียงรายแต้แต้ จึงมาเยี่ยมชมอีกหมู่บ้านหนึ่ง บ้านท่าขันทอง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่ดี มีวิถีการดำเนินชีวิตชนบทริมฝั่งโขงที่เรียบง่าย ที่นี่เป็นชุนชนใหญ่ของชาวอิสานที่อพยพเข้ามาในเชียงราย ซึ่งย้ายถิ่นปักฐานอยู่มานานกว่า 60 ปี มีการผสมผสาน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ การแสดง อาหารพื้นถิ่น และยังคงเป็นชุนชนเศรษฐกิจพอเพียง มีแม่น้ำโขงกั้นเขตแดนไทยลาว จึงเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยือนชุมชนแห่งนี้

กว่า 10 ปี ที่ผู้นำและชาวบ้านช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้  ณ ตอนนี้ ที่บ้านท่าขันทอง เป็นชุมชนท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศไทยไปแล้ว มีกิจกรรมใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวตลอด มีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์  มีรูปแบบการท่องเที่ยวแปลกใหม่ ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ให้บริการทั้งหมด 13 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 70-80 คนเท่านั้น การเดินทางมาเที่ยวที่นี่ จะเน้นให้นักท่องเที่ยวได้พักโฮมสเตย์และทำกิจกรรม ในฐานต่างๆ ร่วมกับชาวบ้าน เช่น การทำข้าวกล้อง การทอผ้า เก็บผลไม้ นั่งเรือ ชมการแสดง การทำสปา  จะมาเป็นหมู่คณะ หรือมาคนเดียว ก็จัดกิจกรรมให้ได้หมด


เรื่องราวต่างๆของบ้านท่าขันทอง ...เส้นทางท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน เป็นยังไง

ตามมาอ่านเพิ่มเติมที่  http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=67



ชมวิวฝั่งโขง ยลโฉมฝั่งลาว


     ระยะทางจากบ้านท่าขันทอง อ.เชียงแสน มาจนถึง อ.เชียงของ ราวๆ 40 กิโลเมตร ถนนบางช่วงเรียบแม่น้ำโขงมองเห็นทิวทัศน์ความงดงามริมฝั่งโขง ก่อนที่เราจะเข้าสู่ตัวอำเภอเชียงของ ราวๆ 5 กม. มีจุดชมวิววัดเทพนิมิตร ที่หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นมา ด้านหน้าจะมีลานชมวิว ที่สามารถมองเห็นแม่น้ำโขง และเมืองห้วยทราบ สปป.ลาว ได้อย่างชัดเจน ถ้าในยามฤดูหนาวบริเวณนี้จะเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง


    ถ้าวัยเก๋าสายบุญด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรพลาดสถานที่นี้ เพราะหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ท่านไม่ใช่พระสงฆ์ทั่วไป แต่เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระมหาเถระผู้มีจิตเมตตาสูงส่ง ผู้เคยฝากผลงานการสร้างวัดดังๆ เช่น วัดอนาโลโย จ.พะเยา วัดเฉลิมพระเกียรติ จ.ลำปาง และก็วัดเทพนิมิตร อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งอีกไม่นานก็น่าจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอำเภอเชียงของอีกเช่นกัน


จุดที่ยืนถ่ายรูปกันนี้ เป็นบริเวณหน้าลานวิหาร ที่ทำยื่นออกไปเป็นระเบียงชมวิว 




ท่าเรือบั๊ค อดีตที่เคยรุ่งเรือง


   เมื่อครั้งที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ยังสร้างไม่เสร็จ หากจะข้ามไปยัง สปป.ลาว จุดเดียวใน อ.เชียงของที่ข้ามได้ก็คือท่าเรือบั๊ค เป็นท่าเรือเก่าแก่ที่ใช้งานมานานหลายสิบปี ทั้งขนถ่ายสินค้าข้ามฟาก ไปมาหาสู่ระหว่างพี่น้องไทย-ลาว แต่หลังจากสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 เปิดใช้งาน การข้ามชายแดนทางแม่น้ำโขง ก็ต้องไปใช้สะพานแห่งใหม่แทนจุดนี้ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ที่เคยครึกครัก ด้วยบรรยากาศของนักท่องเที่ยว มาวันนี้จึงเหลือคนไทยเท่านั้นที่จะใช้ท่าเรือตรงนี้ได้ ชาวต่างชาติต้องไปใช้บริการสะพานใหม่แทน บรรยากาศการค้าขายชายแดนแถวนี้จีงเงียบเหงาไปพอสมควร


ย้อนรอย..ข้าวซอยสิบสองปันนา


     เชียงของ เป็นอำเภอเล็กๆด้านหนึ่งติดกับเมืองห้วยทราย สปป.ลาว เป็นชุมชนเก่าแก่ จึงมีหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ในเรื่องอาหารท้องถิ่นก็เหมือนกัน สายกินต้องห้ามพลาด กับมือเที่ยงในแบบของอาหารคนจีนสิบสองปันนา ที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น ที่ร้านข้าวซอยป้าอ่อน ร้านเล็กๆอยู่ตรงมุมถนน พิกัดร้านทางเข้าอยู่ด้านหน้าวัดพระแก้ว เข้าซอยไปอีกราวๆ 200 เมตร ถามชาวบ้านแถวนั้นรู้จักดี เพราะร้านนี้เขาอยู่มานานหลายสิบปี อยู่ในพื้นที่บ้านไม้ทรงเก่าๆ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ขายข้าวซอย ก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่ง ดัดแปลงใต้ถุนบ้าน ให้เป็นร้านอาหารมาตั้งแต่สมัยคุณแม่ จนหลายคนติดปาก ดารา นักแสดง มาชิมกันมากมาย ด้วยรสชาติและเครื่องปรุงต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของร้านที่มาจากสิบสองปันนา


    ทีเด็ดของร้านนี้อยู่ที่ ข้าวซอยน้ำหน้า หรือข้าวซอยฮ่อ หรือข้าวซอยน้ำคั่ว หรือข้าวซอยสิบสองปันนา ก็แล้วแต่จะเลือก ในแบบฉบับอาหารของขาวสิบสองปันนา ลักษณะจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหรือเส้นใหญ่มีให้เลือกตามชอบ แล้วใส่ด้วยน้ำหน้าหรือน้ำคั่ว ทำจากเครื่องแกงผัดกับหมู ถั่วเน่า สูตรเด็ดของทางร้าน กินกับถั่วลวก ผักสด การันตีความอร่อยได้จากตอนเที่ยงในแต่ละวันคนแน่นร้าน จึงไม่แปลกที่ร้านนี้มีบล็อกเกอร์ ดารา รายการทีวี นิตยสารมากมาย มาถ่ายทำ   ไปเที่ยวเชียงของทั้งที แนะนำของดีๆ ที่ร้านข้าวซอยป้าอ่อน  


ตามไปชมภาพบรรยากาศกันเลย 

http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=68



 ศิลปะบนผืนผ้า มีคุณค่าดุจทองคำ


     ไทลื้อเป็นชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ทางด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงามปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายมีความโดดเด่นด้วยผ้าฝ้ายทอมือ ที่มีลักษณะเฉพาะ ด้วยการทอผ้าเป็นลวดลายอันวิจิตรทรงคุณค่าในศิลปะแบบไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาช้านาน


จากสิบสองปันนามาสู่ศรีดอนชัย กับศิลปะลวดลายบนผืนฝ้า ที่มีคุณค่าดุจทองคำ ของชาวไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างเป็นพิภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมา เพื่อเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ไว้ เริ่มจากประตูทางเข้าชั้นล่างสุด เป็นชั้นที่เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ


เรื่องราวทั้งหมด และบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ อ่านต่อเพิ่มเติม

http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=69



และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงทริปสั้นๆของการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง 2 วัน 1 คืน กับ " โครงการชวนก๊วนเก๋า ย้อนฝันสานแรงบันดาลใจ " ที่เราได้นำพาไปชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เน้นที่การเดินทางสะดวก พาก๊วนเก๋า ผู้สูงอายุ ร่วมเดินทางไปเที่ยวได้ และมีความปลอดภัย ตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ยังมีเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ มิตรภาพรอยยิ้ม มากมาย ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเยือนเชียงราย ในบรรยากาศ ย้อนฝันสานแรงบันดาลใจ คนวัยเก๋า เพราะเราเชื่อว่าคุณจะได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ในมิติใหม่ของการท่องเที่ยวแบบนี้แน่นอน


สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย สำหรับการวางแผนทริปเที่ยวแบบเชียงรายแต้แต้


สอบถามการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละจุดเพิ่มเติมได้ที่

ททท.สำนักงานเชียงราย หมายเลข โทรศัพท์ 053 717 433


ติดตามการเดินทางของทริปนี้ ผ่านทาง Yotube Channel 

https://www.youtube.com/watch?v=4ARbyNCr4uI