x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

คอนเทนต์มาใหม่

วันที่สอง : เชียงตุง เที่ยวไหนดี

ใครเปิดมาเจอหน้านี้ก่อนอาจจะงง เป็นทริปการท่องเที่ยวในต่างแดน สืบเนื่องมาจากหัวข้อก่อหน้านี้ ตามย้อนกลับไปอ่านได้ครับ 

วันที่แรก : จากเชียงราย ถึง เชียงตุง

 http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=255

วันที่สอง : เชียงตุง เที่ยวไหนดี

 http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=256

วันที่สาม : วันสุดท้ายที่เชียงตุง 

http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=257


เริ่มในเช้าวันที่สอง หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จ ก็เดินเที่ยวชมบรรยากาศเช้าวันใหม่ที่เชียงตุง  ก็จะเหมือนบรรยากาศชนบทในบ้านเราสมัยก่อน 

ผ่านประตูป่าแดง 1 ใน 12 ประตูเมืองเก่าแก่ของเชียงตุง ที่หลงเหลืออยู่ตอนนี้ 

วัดมหาเมี๊ยะมุนี อยู่ติดวงเวียนใจกลางเมืองไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพัก พระวิหารรูปทรงจัตุรมุข 4 ด้าน หลังคา 9 ชั้น ปลียอดบนสุดประดับด้วยฉัตรศิลปะพม่าอันแสดงถึงเกียรติยศแห่งราชสำนักกษัตริย์พม่า หลังคาศิลาศิลปะมัณฑะเลย์ ภายในวิหารของวัด ประดิษฐานพระมหามัยมุนีองค์จำลองให้กราบไหว้บูชา



เยื้องๆกัน อีกมุมหนึ่งของถนน ก็จะเป็นวัดหัวข่วง  เป็นวัดที่สำคัญของเชียงตุง มีซุ้มทางเข้าประตูสีเหลืองประดับด้วยลวดลายศิลปะแบบพม่า  วิหารมองภายนอกอาจจะดูไม่ค่อยสะดุดตา แต่หากเปิดประตูเข้าไปจะพบกับอลังการ ความวิจิตรบรรจงในการตกแต่ง เช่น เสา คาน และแท่นพระประธาน จะมีการลงลักษณ์ปิดทอง พระประธานมีพระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปะเชียงแสนอีกจำนวนหลายสิบองค์ และวัดนี้ยังใช้เป็นสถานที่ศึกษาของพระเณรอีกด้วย

เยื้องมุมถนนฝั่ง ตรงข้ามวงเวียนอีกเช่นกัน เป็นวัดพระแก้ว   วัดนี้มีความสำคัญก็เหมือนวัดพระแก้วของไทยเรา คือเป็นเหมือนวัดในวัง ปกติวัดนี้จะไม่เปิดเพราะไม่มีพระเณรจำวัดอยู่ นอกจากจะมีเทศกาลหรืองานสำคัญ ด้านหนึ่งอยู่ติดกับกำแพงหรือรั้ว โรงแรม Kyaing Tong New Hotel หรือหอคำ ที่เป็นพระราชวังเก่านั่นเอง


ภายในก็จะมีพระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่กับพระประธานในวิหาร ตามผนังก็จะศิลปะภาพวาดอธิบายเป็นตัวหนังสือพม่า  ไม่แน่ใจว่าเป็นนิทานชาดกเหมือนวิหารในวัดของไทยหรือเปล่า พอดีวัดนี้ไกด์ไม่ได้เข้ามาด้วย ^-^

สายๆมาหน่อย ลองไปดูบรรยากาศกาดหลวงเชียงตุง โดยรวมก็คล้ายๆกับบ้านเรา แต่ที่นี่เขากว้างใหญ่จริงๆ เดินกันจนหลงเลยก็ว่าได้ มีสินค้าหลากหลายบรรยากาศคึกคักมาก เป็นตลาดที่ใหญ่สุดในเมืองเชียงตุง  หากจะเอาให้ทั่ว เดินไปทุกซอยน่าจะใช้เวลากว่าครึ่งวันเลยทีเดียว

สินค้าในตลาดสดเชียงตุง รวมๆก็จะคล้ายๆกับบ้านเรา แต่ที่แปลกตาเพิ่งเคยเห็นก็เป็น โรตีโอ่ง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในตลาดสดเชียงตุงแห่งนี้  หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะขั้นตอนการทำโรตียังเป็นแบบโบราณ โดยไม่ใช้เครื่องจักร คนขายจะนวดแป้งเอง ทำเป็นแผ่นแล้วเอาไปทาบกับขอบโอ่ง ที่มีความร้อนจากเตาไฟด้านล่าง พอได้ที่ก็จะนำออกมาตัดเป็นคำๆ  ความอร่อยการันตีได้จากคนนั่งเต็มร้าน

และอีกหนึ่งอย่างที่มาเดินตลาดนี้แล้วต้องห้ามพลาด ไปชมและชิมลูกชิ้นหมูทุบ เมื่อเดินเข้าใกล้โซนขายเนื้อ จะได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังทุบอะไรอยู่ดังก้องไปทั่วตลาด จึงต้องเดินตามเสียงเข้าไปดู เป็นขั้นตอนการทำลูกชิ้นแบบดั้งเดิมของคนเชียงตุง โดยนำเนื้อหมูมาทุบจนละเอียด แล้วนำไปปั้นเป็นลูกชิ้น มีหลายร้านกำลังนั่งทุบหมูกันอยู่ หาดูได้ยากอีกเช่นกัน

   หลังจากเดินตลาดเช้าเสร็จแล้ว เราก็เริ่มทัวร์แบบเต็มวัน จุดแรกออกเดินทางไปเยี่ยมชม พระธาตุจอมดอย ห่างจากตัวเมืองไม่ไกล เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของเชียงตุง เป็นวัดหนึ่งในสามจอมคู่บ้านคู่เมือง ประวัติของวัดจอมดอยแห่งนี้จะเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงตุงที่เป็นตำนานในอดีต วัดแห่งนี้เราจะได้พบกับเจดีย์ที่ภายในมีเกศาของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ให้เคารพบูชา ..ซึ่งห้ามสุภาพสตรีขึ้นไปภายในเจดีย์.. นับเป็นอีกหนึ่งวัดศักดิสิทธิ์ที่ชาวเชียงตุงให้ความเคารพนับถือ วิหารยังมีศิลปะของไทยเขิญตกแต่งไว้ตามส่วนต่างๆรอบผนัง และเนื่องจากอยู่บนยอดดอย ดังนั้นด้านหนึ่งถ้าในวันที่สภาพอากาศปกติก็จะมองเห็นหมู่บ้านและวัดของชนเผ่าชาวแอ่น หากเป็นยามเช้าในช่วงฤดูหนาวก็จะเห็นทะเลหมอกลอยอยู่เหนือพื้นทุ่งนาได้ล่าง

ลงจากวัดจอมดอยมาไม่นาน แวะชมบ้านชาวแอ่น หรือชนเผ่าแอ่น เป็นอีกหนึ่งชาติพันธ์ในเชียงตุง ซึ่งที่หมู่บ้านนี้ดูด้วยสายตาน่าจะมีราวๆ 20 หลัง

เป็นชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์ฟันจะมีสีดำ... แต่ที่เข้าไปดูก็ยังไม่เจอคนฟันดำนะครับ  ^-^

 เราได้มาถึงหมู่บ้านทราย เป็นบ้านเรือนของชาวไทเขิน ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองของเชียงตุง ไปชมศิลปะการสร้างบ้านไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนล้านนา ปลูกเรือนยกเสาสูง หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดหรือดินขอ บางหลังคาก็จะมีมอสขึ้นปกคลุมหลังคาอันบ่งบอกถึงอายุของตัวบ้านที่เก่าแก่ ด้านล่างเลี้ยงวัวควายผูกไว้กับเสาบ้าน ซึ่งคนที่อายุ 50 ปีขึ้น สมัยก่อนคงเคยได้เห็นบรรยากาศแบบนี้


" ใจกลางบ้าน "  ลักษณะคล้ายศาลพระภูมิเจ้าที่ในบ้านเรา แต่ที่นี่จะตั้งศาลไว้อยู่ใจกลางหมู่บ้าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นที่ยึดเหนี่ยว ถ้ามีงานหรือเทศกาลอะไรในหมู่บ้าน เช่นงานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนมาเซ่นไหว้ที่ใจกลางบ้าน เพื่อขอขมาก่อนที่จะกลับไปจัดงานพิธีที่บ้าน

จากนั้นไปดูหมู่บ้านที่ใช้อิฐสร้างบ้าน สร้างกำแพง ซึ่งลักษณะเหมือนนำดินมาทุบเป็นก้อนรูปสี่เหลี่ยมผ่านกระบวนการเผา แล้วนำมาก่อสร้างบ้านโดยวางทับซ้อนกันขึ้นไป  บางหลังอยู่กันมาเป็นร้อยกว่าปีเลยทีเดียว ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเยี่ยมชมกันมาก เป็นอีกหนึ่งจุดน่ามาเที่ยว

 แวะชิมริมทางเมนูอาหารกินเล่น อาหารว่างของที่นี่ ข้าวแรมฟืน  สามารถหากินได้ทั่วไปตามตลาดหรือตามร้านก๋วยเตี๋ยว อย่างในหมู่บ้านที่เรามาเดินดูวันนี้ ก็ขายกันแบบเรียบง่ายในเพิงข้างทาง คุยๆกับแม่ค้าก็ได้ความรู้เพิ่มเติม สีของข้าวแรมฟืน ได้มาจากวัตดุดิบที่ใช้ทำ ถ้าออกเหลืองๆหรือเทาๆก็มักจะทำมาจากถั่วลิสง หรือถั่วเหลือง อีกอย่างก็จะเป็นสีขาว ซึ่งทำมาจากข้าวจ้าวธรรมดา เมื่อนำมาปรุงกับเครื่องปรุงอย่าง พริก เกลือ ชูรส บางเจ้าอาจมีน้ำมะเขือเทศ คลุกเคล้าให้เข้ากัน เห็นบอกว่าอร่อยจนลืมแฟนกันเลยทีเดียว


เชียงตุงเมืองร้อยวัดจริงๆ ที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับพุทธศาสนา วัดต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 600 กว่าปี ถือได้ว่ามีความเก่าแก่ร่วมสมัยกับเชียงใหม่ เชียงราย แต่บ้านเมืองเขาอนุรักษ์ไว้อย่างดี สภาพวิหาร หลังคา พระพุทธรูปเก่าแก่ยังอยู่มาจนถึงคนรุ่นหลัง โดยไม่มีซี่กรง ล็อคกุญแจครอบองค์พระพุทธรูปไว้ให้บดบังความงดงาม 


 อย่างตอนนี้เราก็มาอยู่กันที่วัด เจียงแสน อาจจะสะกดผิดนะครับ ผมก็ฟังไกด์ท้องถิ่นพูดชื่อให้ฟังสำเนียงก็ออกจะไปทางเชียงตุง บางคำก็ไม่รู้จะเขียนยังไง  แต่จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่วิหารเก่าแก่ ที่สร้างด้วยดินขอ เป็นลักษณะคล้ายแป้นไม้แกล็ดหรือกระเบื้อง แต่เขาทำด้วยดินแล้วมีขอเกาะเกี่ยวยึดกับไม้ไว้ ถัดไปด้านข้างมีองค์เจดีย์ทรงพม่าตั้งอยู่ตรงทางเข้าดูเด่นสวยงาม


ต่อมาก็ไปกันที่วัดยางกวง ใครที่อยากได้รู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญในเมืองเชียงตุง ก็ต้องไปหาอ่านที่วัดนี้ครับ  และอีกหนึ่งจุดเด่นของวัดนี้คือในวิหารจะมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยห่มด้วยเครื่องทรงเกล็ดพญานาค บางคนก็เรียกวัดเกล็ดนาค ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตามความเชื่อคนเชียงตุง ที่ว่ามีพญานาคจากหนองตุง ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่วัดยางกวงแห่งนี้ และรอบๆกำแพงวิหารด้านใน ยังมีประวัติของบุคคลสำคัญเกี่ยวกับเชียงตุงเป็นภาษาไทยให้ศึกษาด้วย

วัดอินทร์บุพผาราม หรือวัดยิน (สำเนียงไทเขิน) อีกหนึ่งวัดสำคัญในเมืองเชียงตุง เป็นวัดเก่าแก่อายุ 600 กว่าปีและขึ้นชื่อว่างดงามที่สุดในเชียงตุง ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าเป็นศิลปะไทเขินผสมไทใหญ่ ในวิหารด้านหลังของพระธานมีพุทธรูปเก่าแก่อายุหลายร้อยปีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีบ่อน้ำทิพย์ ที่ไม่เคยแห้ง และเชื่อว่าพระอินทร์เป็นผู้เนรมิตขึ้น ชื่อของวัดอินทร์ตามตำนานหนึ่งเล่าขานกันว่ามีคหบดีชาวเชียงตุงจะสร้างพระพุทธรูปถวาย แต่สร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จเสียที จนช่างท้อกันไปหมด อยู่มาวันหนึ่งมีคนแก่นุ่งขาวห่มขาวได้เข้ามาช่วยสร้าง ในขณะนั้นก็เกิดพายุลมพัดแรง จนช่างทุกคนหลับกันหมด พอรุ่งนี้เห็นว่าพระพุทธได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ จึงเห็นตรงกันว่าคนที่มาช่วยคือพระอินทร์ จนมาตั้งเป็นชื่อของวัดแห่งนี้


เปลี่ยนจากวัด มาดูหอคำเก่าแก่กันบ้าง เป็นบ้านของเจ้าฟ้าในสมัยก่อน ปัจจุบันถูกปิดไว้ไม่ให้เข้า รูปนี้อยู่นอกกำแพงถ่ายเข้าไป ดูจากสภาพภายนอกก็คงมีอายุหลายร้อยปี แต่ยังคงสภาพเดิม ดูแล้วมีเรื่องราวในอดีตมากมายในบ้านหลังนี้ ก็ได้แต่ยืนดูภายนอกเท่านั้น  ถ้าเป็นในสมัยหลายร้อยปีก่อนรูปทรงอาคารแบบนี้ถือว่าสวยงามมาก  ตอนนี้ก็คงเหลือไว้แต่เรื่องราวให้นักท่องเที่ยวได้ตั้งคำถาม

จากนั้นไปชมหนองตุง  เป็นหนึ่งในเก้าหนองน้ำในเมืองที่หลงเหลืออยู่  เปรียบเสมือนเส้นใหญ่อยู่ใหญ่ใจกลางเมืองที่น้ำไม่เคยแห้ง ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและยอดฮิต ใครมาเที่ยวเชียงตุงแล้วไม่ได้หนองตุงแห่งนี้ก็เหมือนมาไม่ถึง  ..แอบเสียดายหากท้องฟ้าเปิดโล่งคงได้เห็นท้องฟ้าสวยๆเป็นฉากหลัง

สถานที่สุดท้ายของวันนี้ พระชี้ินิ้ว เหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเชียงตุงเลยก็ว่าได้  เป็นพุทธรูปสร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ สร้างตามศิลปะพม่าแบบสกุลช่างมันฑะเลย์ ประทับยืนชี้นิ้วพระหัตถ์ข้างขวาตรงไปข้างหน้า ความหมายที่ชี้นิ้วจริงๆไม่แน่ชัด มีหลากหลายเรื่องเล่า


อีกนัยหนึ่งในทางความเชื่อว่าหลังจากพระพุทธเจ้า ทรง ล้างบาตร ในหนองตุง เสร็จ พระองค์ ทรงชี้นิ้วมายังเมือง เชียงตุง นี้ แล้วตรัสว่า เมืองนี้จะเจริญ จึงมีการสร้างพระพุทธรูปยืนชี้นิ้วไว้บริเวณยอดเขาแห่งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และทั้งหมดนี้เป็นทริปในวันที่สองของการอยู่ที่เชียงตุง  เราได้เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆเกือบทั่วทั้งเมือง ยังมีจุดเล็กน้อย มิตรภาพรอยยิ้มของชาวเมืองระหว่างทางอีกมากมาย


ติดตามทริปแต่ละวันต่อ

วันที่สาม : วันสุดท้ายที่เชียงตุง

http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=257


วันที่แรก : จากเชียงราย ถึง เชียงตุง

http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=256


วันที่สอง : เชียงตุง เที่ยวไหนดี

http://www.chiangraifocus.com/2018/article/detail.php?id=255