x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

คอนเทนต์มาใหม่

น้อมรำลึก 757 ปี มหาราชองค์ผู้สร้างเมืองเชียงราย รวม 4 สิ่ง ที่พญามังรายมหาราช ทรงสร้างเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลัง

            เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย เป็นผู้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1805 จนกระทั่งปัจจุบัน จังหวัดเชียงราย มีอายุครบ 757 ปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงประกอบนานัปการ ด้วยพระอัจฉริยะและด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทำให้คนเชียงรายอยู่อย่างร่มเย็นมาถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2562 นี้  จังหวัดเชียงรายจึงได้จัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลสักการะดวงพระวิญญาณพญามังรายมหาราช ในวันศุกร์ ที่ 25 มกราคม 2562 ณ วัดดอยงำเมือง อ.เมืองเชียงราย สำหรับใครที่อยากไปร่วมพิธีสามารถ ไปกันได้ งานเริ่ม เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

และจะมีงานประจำปี คือ งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 26 ม.ค.2562 - 4 ก.พ.2562 ณ สนามบินเก่า (ฝูงบิน 416) ซึ่งเป็นงานนิทรรศการของส่วนราชการอำเภอต่างๆ และ การออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย พร้อมชมการประกวด การแสดงบนเวที อาทิ การประกวดร้องเพลงของผู้บริหารสมาชิกท้องถิ่น การประกวดเพลงลูกทุ่งของเด็กและเยาวชน การประกวดเทพธิดาดอย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังรายมหาราช ในทุกๆปี


          สำหรับคนรุ่นหลังอย่างเราๆ อาจจะรู้แค่เพียงว่าพญามังรายมหาราช หรือพ่อขุนเม็งรายที่เราเรียกกันติดปากนั้นเป็นผู้สร้างเมืองเชียงราย แต่รู้หรือไม่กว่าจะเป็นเชียงรายในทุกวันนี้ พระองค์ได้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านนาให้เป็นปึกแผ่น ให้มีวัฒนธรรมและประเพณีอันมีอัตลักษณ์ของล้านนาอันงดงาม และทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  วันนี้เชียงรายโฟกัสจะขอร่วม น้อมรำลึก 757 ปี มหาราชองค์ผู้สร้างเมืองเชียงราย รวบรวม 4 สิ่ง พระราชกรณียกิจต่างๆที่พญามังรายมหาราช สร้างเพื่อคนรุ่นหลัง ให้เป็นความรู้แก่ชาวเชียงรายได้ทราบกัน ไปดูกันเลยค่ะว่า มีอะไรบ้าง



1. ทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง 3 เมือง


ได้แก่

เมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 1805

เมืองกุมกาม (ปัจจุบันคืออำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่) เมื่อ พ.ศ. 1829

เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1834

นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงบูรณะเมืองหิรัญนครเงินยาง และในปี พ.ศ.1811 ได้บูรณะเมืองฝางเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมไพร่พลของพระองค์ (ซึ่งแต่เดิมเมืองฝางตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน) และโปรดให้ขุนอ้ายเครือคำลก หรือขุนเครื่อง ราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองฝาง




2. ทรงแผ่พระเดชาในทางการรบ 


กล่าวคือหลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำได้แล้ว ในปี พ.ศ. 1824 ตีเมืองหริภุญชัยจากพระยายีบา กษัตริย์ขอม พระยายีบาหลบหนีไปอยู่กับพระเบิกที่นครเขลางค์พ.ศ. 1828 พระยายีบาและพระยาเบิกยกทัพขอมมาเพื่อตีเมืองหริภุญชัยคืน พญามังรายจึงทรงแต่งพระโอรสคือ เจ้าขุนคราม ยกทัพออกไปต้านทาน ได้รบกับพระเบิก และจับพระยาเบิกสำเร็จโทษ พระยายีบารู้ข่าวว่าเสียบุตรจึงทิ้งเมืองเขลางค์หนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าขุนครามจึงได้เมืองเขลางค์อีกเมืองหนึ่ง นับว่าดินแดนภาคเหนือทั้งหมดพญามังรายได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกลดังนี้


ทิศเหนือ จด สิบสองปันนา

ทิศใต้ จด อาณาจักรสุโขทัย

ทิศตะวันออก จด แคว้นลาว

ทิศตะวันตก จด แม่น้ำสาละวิน


พ.ศ. 1829 ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีเจงพยุเจง เกรงพระบารมีจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นไมตรีโดยยกพระราชธิดาพระนามว่านางปายโค (ตะละแม่ศรี) ให้เป็นบาทบริจาริกาแด่พญามังราย

พ.ศ. 1832 ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระเจ้าอังวะให้ราชบุตรนำเครื่องบรรณาการมาต้อนรับขอเป็นไมตรี




3. ทรงนำความเจริญในด้านศิลปกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมมาสู่แคว้นลานนา


 โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างทอง และช่างเหล็ก ชาวพุกามเข้ามาฝึกสอนขาวล้านนาไทย จึงเข้าใจว่าศิลปะต่าง ๆ ของพุกามที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันน่าจะเริ่มมาแต่นั้น เมื่อจำนวนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มีมากขึ้น ก็ทรงจัดหาทำเลที่เหมาะสมในการเกษตรและการค้าเพื่อให้มีอาชีพทั่วหน้า



4. ทรงเป็นนักปกครองที่มีความสามารถและประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง


พญามังรายมหาราช หรือ พ่อขุนเม็งรายมหาราช ทรงเลื่อมในและศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองราษฎรของพระองค์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีศีลธรรมอันดี มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารีแก่คนทั่วไป ซึ่งเป็นมรดกด้านคุณธรรมที่ตกทอดถึงลูกหลานชาวล้านนา จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบผู้เก่งกล้า แต่การใดที่เป็นทางนำไปสู่ความหายนะเป็นเหตุให้เสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงรับไมตรีจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ และการกระทำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสามกษัตริย์ดังกล่าว  พระปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎหมายที่ทรงตราขึ้นไว้เป็นพระธรรมศาสตร์ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เรียกว่า กฎหมายมังรายศาสตร์ เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจรณาในการพิพากษาผู้กระทำผิดสมควรแก่โทษานุโทษโดยมิให้เลือกเห็นแก่หน้าว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย หัวหมู่ หรือไพร่น้อยเมื่อกระทำผิดย่อมต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน

กฎหมายสมัยพญามังราย ที่บันทึกลงในสมุดสาด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมือง ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมอญ

รูปภาพ : http://www.trueplookpanya.com/blog/content/59295/

พญามังรายมหาราชสวรรคตขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเชียงใหม่ โดยถูกอสุนีบาต(ฟ้าผ่า)ตกต้องพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 1860 รวมพระชนม์มายุได้ 80 พรรษา พระยาชัยสงครามพระราชโอรสได้ครองเมืองเชียงรายต่อมา 


ดูภาพและข้อมูลเพิ่มเติม จากสมาชิก คุณเชียงรายพันธุ์แท้ ได้ที่ http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=5121.0


อ่านประวัติพญามังราย : http://www.chiangraifocus.com/chiangrai/kingmengrai.php