x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

สายบุญห้ามพลาด!! แนะนำเส้นทางบุญ ทัวร์ 9 วัด วันมาฆบูชา @เชียงราย

          วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4


           ปัจจุบัน “วันมาฆบูชา”ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทยโดยพุทธศาสนิกชน พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ ที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล


           ทางเว็บเชียงรายโฟกัสจึงอยากจะแนะนำ กิจกรรมในวันหยุดทางศาสนาให้กับทุกๆท่าน เผื่อใครที่ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ และเป็นโอกาสดีที่เหล่าสายบุญทั้งหลายจะได้ทำบุญกันถ้วนหน้า วันนี้จึงอยากจะแนะนำกิจกรรม ไหว้พระ 9 วัด ในวันมาฆบูชา ไหว้พระขอพร และน้อมรับสิริมงคลเข้าสู่ชีวิต เพื่อให้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวในวันหยุด ที่ทำได้ง่าย ๆ  ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวสำหรับใครก็ตามที่อยากเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ทำให้เรื่องของการเข้าวัดทำบุญไม่ได้เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่แต่คนแก่อีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้ ว่าแล้วไม่รอช้า…เปิดลายแทงออกเดินทางไหว้พระ 9 วัด กันเลยดีกว่า





1.วัดพระแก้ว อ.เมือง


วัดพระแก้ว เป็นวัดเก่าแก่ มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่คู่กับจังหวัดเชียงรายมายาวนาน เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือป่าเยียะ เมื่อปี พ.ศ.1977 ฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์พบพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอยู่ภายในจึงนำมาประดิษฐานไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบางแห่งหลุดกะเทาะออก จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์พบพระแก้วมรกต มีพุทธลักษณะงดงาม การค้นพบพระแก้วมรกตในครั้งนั้น ทำให้วัดป่าญะ ได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดพระแก้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง

(เวลาเปิด-ปิด 07.00 - 18.00 น.)


กิจกรรม : ไหว้พระแก้วมรกต จำลอง พระพุทธรูปสำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล " ไหว้พระแก้วมรกต เชื่อว่า แก้วแหวน เงินทองไหลมาเทมาตลอดปี และมีพิพิธภัณฑ์เก็บข้าวของเครื่องใช้ในสมัยล้านนาไว้มากมาก และมีหอพระหยก ที่สร้างด้วยศิลปะแบบล้านนาโบราณ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้


สถานที่ตั้ง เลขที่ 19 หมู่1 ถ.ไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


การเดินทาง เมื่อถึงห้าแยกพ่อขุนเม็งรายกลางตัวเมืองเชียงรายให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล แล้วตรงเรื่อยๆ จนสุดทางสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นวัดพระแก้วอยู่ทางขวามือ


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/27






2.วัดงำเมือง อ.เมือง


วัดงำเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ.1860 เป็นที่ตั้งของสถูป (กู่) บรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช สร้างโดยพญาไชยสงครามโอรสพญามังรายมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1860 พญาไชยสงครามพระราชโอรสได้ถวายพระเพลิงพระศพพญามังรายมหาราชแล้ว ได้กลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของพญามังรายมาประดิษฐาน ณ ดอยแห่งนี้

(เวลาเปิด-ปิด 07.00 - 18.00 น.)


กิจกรรม : สักการะ ขอพร พระรูปจำลองของพญามังราย และกู่บรรจุอัฐิพญามังรายที่สร้างด้วยศิลาแลง มีเสาไม้แกะสลักภาพประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงราย ใช้ชมอีกด้วย


สถานที่ตั้ง ถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย (ชุมชนราชเดชดำรง) หมู่ที่1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย


การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว จากวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาที่สี่แยกเข้า ถ. เรืองนคร ซึ่งเป็นวัลเวย์ ไปประมาณ 500 ม. จะไปบรรจบ ถ.งำเมือง เป็นสามแยกศูนย์คมนาคม จากนั้นเลี้ยวขวา ขับตรงขึ้นวัดประมาณ 300 เมตร


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/306






3.วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือ วัดดอยทอง


วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือ วัดดอยทอง เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญาเรือนแก้ว ผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ (อำเภอเวียงชัยปัจจุบัน) ปี พ.ศ. 1483 พระเถระชาวลังกาได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 16 พระองค์มาถวายแก่พระเจ้าพังคราช เจ้าเมืองโยนก นาคพันธุ์สิงหนวัติ พระองค์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่คอยจอมกิตติและดอยจอมทองแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 1805 พญามังรายเสด็จมาบนคอยจอมทอง ทรงเห็นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงโปรดให้สร้างปราการ โอบคอยไว้โดยรอบ ขนานนามเมืองนี้ว่า "เมืองเชียงราย" และทรงกำหนดให้เปืนสะดือเมืองเชียงรายในบริเวณเดียวกันด้วย และในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จมาเจิมเสาสะดือเมืองนี้อีกด้วย ชาวเชียงรายจึงมีความเคารพศรัทธาเสาสะดือเมืองแห่งนี้มาก จึงนิยมมาสรงน้ำเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง และเชื่อว่าน้ำที่สรงเสาสะดือเมืองแล้วเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

(เวลาเปิด-ปิด 07.00 - 17.00 น.)


กิจกรรม : สักการะ เจดีย์พระธาตุทรงระฆังแบบพื้นเมืองล้านนา และเสาสะดือเมืองที่ตั้งอยู่บนรูปสมมุติของจักรวาล เชื่อกันว่าการไหว้พระธาตุดอยจอมทองจะมีทรัพย์สินเงินทองมาก


สถานที่ตั้ง วัดพระธาตุจอมทอง อยู่บนดอยจอมทอง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย


การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช เข้าถนนอุตรกิจไปจนถึงสี่แยกพหลโยธิน (สายใน) เลี้ยวขวาผ่านหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิงหไคล เลี้ยวซ้ายเข้าถนนไตรรัตน์ ผ่านวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งขึ้นดอยทองผ่านวัดงำเมืองไปประมาร ๓๕o เมตร ก็จะถึงปากทางขึ้นพระธาตุดอยจอมทอง


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/210






4.วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน


วัดพระธาตุจอมกิตติ ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้มอบเกสาธาตุ 1 เส้น ให้พระสารีบบุตรนำมาบรรจุไว้ที่ปลายดอยน้อยแห่งเมืองเชียงแสน ในปี พ.ศ. 1483 พระเจ้าพังคราช ได้รับพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผากพระพุทธองค์จากพระพุทธโฆษาเมืองสุธรรมาวดี จำนวน 16 พระองค์ ทรงโปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ 4 พระองค์นำไปบรรจุ ณ ดอยจอมทอง ที่ เหลืออีก 11 พระองค์ ทรงโปรดให้พระเจ้าพรหมมหาราชนำไปประดิษฐานไว้ที่ดอยน้อย หรือดอยจอมกิตติ ร่วมกับพระเกสาธาตุ และกรมศิลปากรประกาศให้ขึ้นทะเบียนพระธาตุจอมกิตติ เป็นโบราณสถานส่าคัญของชาติใน พ.ศ. 2478

(เวลาเปิด-ปิด 08.30 - 17.00. น.)


กิจกรรม : เยี่ยมชมโบราณสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระเกสาธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยววัดพระธาตุ 9 จอม เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้จะอุดมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ลาภยศผู้คนสรรเสริญ เป็นเจ้าคนนายคน


สถานที่ตั้ง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (อยู่ถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน - เชียงของ)


การเดินทาง จากอำเภอเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 ผ่านอำเภอพญาเม็งรายใช้ทางหลวงหมายเลข1174 ผ่านปากทางเข้าน้ำตกตากควัน บ้ายไชยพัฒนา เข้าเขตอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1098 ผ่านบ้านเนินสมบูรณ์ ปากทางแยกเข้าอำเภอเวียงชัย ปากทาง เข้ากิ่งอำเภอดอยหลวง ใช้ทางหลวงหมายเลข1271 มุ่งตรงสู่อำเภอเชียงแสน ผ่านวัดพระธาตุผาเงา เข้าถนน บายพาส เข้าถนนเชียงราย – เชียงแสนไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงทางเข้าพระธาตุจอมกิตติ ฝั่งซ้ายมือรวมระยะทางทั้งสิ้น 117 กิโลเมตร


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/228






5.วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน


วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน เป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงแสน เป็นสถานที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างโดยพระเจ้าแสนภู "พระธาตุเจดีย์หลวง" ได้ชื่อมาจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดซึ่งสูงถึง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร ตามคติการสร้างเจดีย์ใหญ่ไว้กลางเมืองเพื่อให้คนที่อยู่ไกลมองเห็นได้ พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารซึ่งเก่าแก่มากพังทลายเกือบหมดแล้วและเจดีย์ธาตุแบบต่างๆ อีก 4 องค์ โบราณสถานแห่งนี้แม้ว่าจะปรักหักพังไปมากแล้วแต่ได้รับการบูรณะอย่างดีให้สมกับเป็นวัดที่สำคัญของหิรัญนครเงินยางภายในสมัยอาณาจักรล้านนา

(เวลาเปิด-ปิด 8.00 - 16.30 น.)


กิจกรรม : สักการะเจดีย์พระประธานทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเป็นตันแบบของเจดีย์รุ่นหลังๆ ของเมืองเชียงแสน เยี่ยมชมโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2478


สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย


การเดินทาง โดยรถยนต์ส่วนตัว จากอำเภอเมือง มุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่จัน ประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอเชียงแสน ขับรถต่อไปอีก 30 กิโมเมตร เมื่อเข้าสู่ตัวอำเภอเชียงแสน วัดพระธาตุเจดีย์หลวงจะอยู่ด้านขวามือ ติดกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน โดยรถโดยสารประจำทาง นั่งรถสายเชียงราย-เชียงแสน บริเวณสถานทีขนส่งผู้โดยสาร จ.เชียงราย


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/225






6.วัดพระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย


ตำนานโยนกกล่าวว่าพระมหากัสปเถระได้อัญเชิญรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามอบ ให้พระเจ้าอชุตตราช เพื่อประดิษฐานที่ดอยดินแดง (ชื่อเดิมของดอยตุง) พระองค์จึ่งให้ทำตง (ธง) ความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขาหากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นอาณาเขตของพระธาตุ พ.ศ.100 พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุถวายพญามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ทรงโปรดให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระธาตุดอยตุงจึงมีสถูป 2 องค์มาจนถึงปัจจุบัน

การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ พ.ศ.2470 นำโดยครูบาศรีวิชัย

การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2515 โดยกระทรวงมหาดไทยออกแบบใหม่ทำพิมพ์แบบย่อมุมไม่สิบสองครอบเจดีย์องค์เดิม

การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549 กรมศิลปากรบูรณะโดยกลับไปใช้รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา


(เวลาเปิด-ปิด 07.00 - 17.30 น.)


กิจกรรม : สักการะและเยี่ยมชม เจดีย์พระธาตุ รอยพระพุทธบาท บ่อน้ำทิพย์ หลุมปักตุง เป็นพระธาตุประจำปีของผู้ที่เกิดปีกุน


สถานที่ตั้ง วัดพระธาตุดอยตุง ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย


การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่สาย - พระตำหนักดอยตุง ก่อนจะถึงทางแยกเข้าพระตำหนักดอยตุงให้ตรงไปทางสวนรุขชาติดอยช้างมูบ จะมีป้ายบอกทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ระยะทางจากแยกพระตำหนักถึงวัดประมาณ 7 กม. และ ระยะทางจากเชียงรายถึงพระธาตุดอยตุงประมาณ 60 กิโลเมตร


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/180






7. วัดพระธาตุจอมแว่ อ.พาน


เล่าขานกันว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาแวะที่คอยชางคำ และประทานพระเกสาให้แก่ผู้ที่มาเฝ้านมัสการไวับูชาแทนพระองค์ เป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์เคยเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งนี้ในปี

พ.ศ. 1839 พ่อขุนงำเมือง แห่งเมืองภูกามยาว ได้พบที่บรรจุพระเกสาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม จึงสั่งให้ช่างฝีมือมาสร้างเจดีย์ครอบที่บรรจุเกสาธาตุ

ปี พ.ศ.2119 ได้รับอนุญาตให้เปืนวัดที่มีพระสงฆ์

ปี พ.ศ.2380 เจ้าพญาหาญพ่อเมืองคนแรกของเมืองพาน ได้ร่วมกับคณะสงฆ์และประชาชนสร้างพระอุโบสถหลังแรกและบูรณะพระธาตุเจดีย์

(เวลาเปิด-ปิด 7.00 - 17.30 น.)


กิจกรรม  : สักการะพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำอำเภอพานเป็นแหล่งท่องเที่ยววัดพระธาตุ 9 จอม เชื่อกันว่า ถ้าได้บูชาจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งเลวร้าย และการเจรจาธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ บริเวณรอบวัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไม่ยืนตันและสัตว์ป่าของอำเภอพาน


สถานที่ตั้ง ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย


การเดินทาง เดินทางจากเชียงราย เลี้ยวขวาเข้าถนนสายในตัวอำเภอพาน ตรงแยกวัดไชยมงคล เข้าไปประมาณ ๓oo เมตรจะพบทางเข้าพระธาตุจอมแว่ฝั่งขวามือ สามารถขับรถได้ถึงลานจอดบนวัด หรือใครจะเดินขึ้นบันได ขับรถเลยไปอีกหน่อย จะมีป้ายบอกทางขึ้นวัดเหมือนกัน


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/175






8.วัดอรัญญวิเวกคีรี (วัดพระธาตุจอมผ่อ) อ.เวียงป่าเป้า


จากหลักฐานโบราณวัตถุ เช่น เจดีย์ พระพุทธรูป กองหินกองอิฐ สันนิษฐานได้ว่าที่ตรงนี้เคยเปีนโบสถ์เปินวิหาร มาก่อน คนรุ่นก่อนเล่าว่า วัดพระธาตุจอมผ่อ นี้เคยมีพระพุทธรูปทองเหลือง ทองแดง องค์เล็กองค์ใหญ่จำนวนมาก พิงอยู่ ตามต้นไม้บ้าง วางอยู่บนกองอิฐดินบ้างไม่มีใครสนใจเมื่อทางราชการได้เข้าไปสำรวจโบราณวัตถุพบว่า ทางวัดไม่มีผัดแลที่แน่นอนจึงได้ทำการเก็บเอาพระพุทธรูปที่เป็นโลหะชนิดต่างๆ ไปหมด ไม่เหลือแม้แต่องค์เดียวในระหว่างการบูรณะเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้พบวัตถุมงคลอีกมากมายพร้อมแผ่นเงินจารึกประวัติการสร้างเจดีย์ที่จานด้วยเหล็กเป็นภาษาล้านนาวัดพระธาตุจอมผ่อได้มีการบูรณะวัดเรื่อยมา เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2546


(เวลาเปิด-ปิด 07.00 - 17.00. น.)


กิจกรรม : เป็นแหล่งท่องเที่ยววัดพระธาตุ 9 จอม มีความเชื่อว่า ถ้าได้กราบไหว้และตั้งจิตอธิษฐานเปรียบเหมือนการลืมตาเจอแสงสว่างในชีวิต


สถานที่ตั้ง วัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อ) บ้านดง-หล่ายหน้า หมู่ ๗ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย


การเดินทาง จากตำบลจอมหมอกแก้วบนทางหลวงหมายเลข 1211 มาถึงทางแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 118 (ถนนเชียงราย – เชียงใหม่) มุ่งตรงสู่อำเภอเวียงป่าเป้า สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงป่าเป้า โรงเรียนอนุบาลสันสลีและวัดศรีสุพรรณเข้าซอยฝั่งตรงข้ามวัดประมาร 2 กิโลเมตร ถึงวัดอรัญวิเวกคีรีอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมฝ่อ รวมระยะการเดินทางทั้งสิ้น 65 กิโลเมตร


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/147






9.วัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย


วัดแสงแก้วโพธิญาณ ตั้งอยู่บนดอย “ม่อนแสงแก้ว” วัดนี้ สร้างขึ้น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยท่านพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต คณะศรัทธาบ้านป่าตึง และศิษยานุศิษย์ เพราะต้องการจะมีวัดใหม่ที่สะดวกต่อการทำบุญของญาติโยม จึงได้คิดสร้างวัดใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธสถาน เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ของพุทธศาสนิกชน 

(เวลาเปิด-ปิด 08.30 - 17.00. น.)


กิจกรรม : ชมสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่มีความหมายทางธรรมะ แฝงอยู่ ผู้ที่มากราบพระ ไหว้พระขอพร ที่วัดนี้ ก็จะได้ไขปริศนาธรรมไปด้วยอย่างเพลิดเพลิน


สถานที่ตั้ง ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย


การเดินทาง การเดินทางไปวัดแสงแก้วโพธิญาณสามารถไปได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเข้าที่บ้านป่าตึงงาม สังเกตุหลักกิโลเมตร 125 เป็นหลักกิโลเมตรที่ใหญ่มาก ไปตามเส้นทางถนนคอนกรีต สะดวกขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงวัดแสงแก้ว เส้นทางที่ 2 เข้าที่ถนนใกล้กับร้านกาแฟฮักแม่สรวย


ดูข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.chiangraifocus.com/2018/article/138




ขอบคุณข้อมูลประวัติ

https://th.wikipedia.org/wiki/วันมาฆบูชา