x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

ทริป 1 วัน ปั่นรถถีบเที่ยวเมืองรอง @ตัวเมืองเชียงราย

จังหวัดเชียงราย เดือนนี้ก็เป็นเดือนแห่งการเพาะปลูก ฟ้าฝนก็สาดความเย็นลงมาทุกวัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ใครจะคิดว่าจริงๆ ฤดูฝนที่แสนจะชุ่มฉ่ำ ถึงแม้จะชุ่มฉ่ำแค่ไหน จังหวัดเชียงรายก็สามารถไปเที่ยวได้แบบชิวๆ เหมือนกัน  วันนี้ผมเลยพาทุกคนมาเที่ยวที่ “เชียงราย”

แม้เป็นฤดูฝน วันนี้ท้องฟ้าช่วงเช้าดูปลอดโปร่ง เมฆสีขาวสลับกับท้องฟ้าสีฟ้าสดใสสบายตา อากาศไม่ร้อนมาก เลยตัดสินใจจะปั่นจักรยานไปเที่ยวแทนการใช้รถยนต์ นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว วิถีชีวิตระหว่างทางของคนเชียงรายก็เป็นอีกสิ่งที่ผมต้องการจะเรียนรู้ หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มุ่งตรงไปยังโรงจอดรถนำจักรยานออกมา และก็ปั่นมันออกไปกันเลย  ตลอดเวลา 1 วัน ผมจะพาไปเที่ยวที่ไหนบ้าง .. ตามผมมาเลยครับ

|| พาไปดูรอยพระบาทของรัชกาลที่ 9 บนแผ่นปูนปลาสเตอร์ แห่งเดียวในประเทศไทย ||

สถานที่แรกที่ผมจะพาไปตั้งอยู่ใน ค่ายเม็งรายมหาราช ครับ การเดินทางก็แสนจะง่าย ผมเลือกปั่นจักรยานเข้ามาทางประตูด้านหลังค่าย  จะมองเห็นสนามกอล์ฟอยู่ทางขวามือ ซึ่งสนามกอล์ฟแห่งนี้มีคนแวะเวียนมาออกรอบอย่างไม่ขาดสาย จากจุดนี้ก็ปั่นตามเส้นทางไปเรื่อยๆ จะเจอป้ายบอกทางไป ศาลารอยพระบาท  ระหว่างปั่นขึ้นเนินผมได้เหลือบเห็นวิวแม่น้ำกก แค่เห็นวิวก็คุ้มแล้วครับ แต่เราต้องใช้กำลังขากันหน่อยนะ เพราะมันต้องปั่นขึ้นเนินด้วย ฮึบ !!!


ความเป็นมาของศาลารอยพระบาทนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดเชียงราย ช่วงนั้นจังหวัดเชียงรายเผชิญภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ และเกิดการสู้รบกันหลายครั้ง เหตุที่ในหลวงเสด็จมาก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหาร และประชาชนนั่นเองครับ


ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าและประชาชน ปัจจุบันรอยพระบาทได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลารอยพระบาทบนดอยโหยด ในค่ายเม็งรายมหาราชนั่นเองครับ ขาลงจากดอยโหยดเราแทบไม่ต้องปั่นเลยครับ ปล่อยลงไปตามทางเลย ชิวกว่าขาขึ้นเยอะ ก่อนไปก็แวะถ่ายรูปอีกสักใบละกันครับ

บรรยากาศของการปั่นจักรยานของผมถือว่าเริ่มต้นได้ดีครับ อากาศก็ดี ได้มองเห็นถึงวิถีชีวิตต่างๆ จุดหมายต่อไปของผม จะพาไปดูบ้านของบุคคลท่านหนึ่ง ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก และเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า ที่พูดมาทั้งหมดก็คือ บ้านของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” นั่นเองครับ
|| บ้านจอมพลแปลก - ป.พิบูลสงคราม ||

ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ความสวยงาม ความคลาสสิค ทุกวันนี้ “บ้านของจอมพล ป.พิบูลสงคราม” มีการดูแลเป็นอย่างดีโดยพี่ๆทหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 เพื่อเป็นบ้านพักรับรอง ให้จอมพล ป. ที่ไปตรวจราชการและเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพภาคพายัพ จนกระทั่งถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2489 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของค่ายเม็งรายฯ ซึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง
ในบ้านจะมีหลายมุมให้เราศึกษาหาความรู้ได้ด้วย ทั้งในเรื่องของความเป็นมาของทหาร การสู้รบ การทำสงคราม และยังมีประวัติของบุคคลสำคัญทางการทหารให้เราได้ศึกษา บางท่านเราอาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี สำหรับบางท่านอาจจะไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่จะมีน้องๆวิทยากรคอยแนะนำข้อมูลของแต่ละส่วน ซึ่งข้อมูลต่างๆจะถูกแบ่งไปตามห้อง จัดเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย
เช่น ห้องแสดงอาวุฒิ จริงๆ แล้วต้องเรียกว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ทหารมากกว่า เพราะอาวุฒิที่ใช้จัดแสดงเป็นของจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปืนต่างๆ ระเบิด การจัดการรบ การวางแนวรบ รวมถึงอาวุฒิที่ใช้ในการรบในอดีต เช่นดาบ ทวน และอุปกรณ์ที่ใช้ต่อสู้บนหลังช้าง

ความรู้ในเรื่องของพระมหากษัตริย์ไทย การเมืองในอดีต ความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ก่อสร้างเมืองเชียงราย การปกครอง วัฒนธรรมต่างๆ และประวัติของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” อย่างละเอียดอีกด้วย 

ส่วนใครที่อยากได้บรรยากาศของความสงบ ร่มรื่น ที่นี่ยังมีร้านกาแฟไว้คอยบริการลูกค้า ซึ่งร้านกาแฟจะตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้าน ที่จอดรถสะดวกสบาย บรรยากาศดี เงียบสงบ เหมาะสำหรับมาจิบกาแฟ ผ่อนคลาย ในวันพักผ่อน

|| ทราบมั้ยครับว่า เสาสะดือเมืองเชียงราย ตั้งอยู่ที่ไหน ||

ทางขึ้น “วัดพระธาตุดอยจอมทอง ” ทำเอาผมเหนื่อยเลยครับ แต่เมื่อปั่นขึ้นมาถึงตัววัดแล้วจะเห็นเจดีย์องค์ใหญ่สีทองอร่ามอยู่กลางวัด และนี่ก็คือองค์พระธาตุดอยจอมทองนั่นเอง วัดนี้เป็นอีกหนึ่งจุดแวะพักรถรางเชียงราย ในโครงการ นั่งรถรางแอ่วเมือง เล่าขาน ๙ ตำนานนครเชียงราย สำหรับใครที่สนใจนั่งรถรางชมเมืองเชียงราย สามารถติดต่อและขึ้นรถได้ที่หลังอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช วัดพระธาตุดอยจอมทองนี้ยังเป็นหนึ่งใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นที่รู้จักกันใน พระธาตุ 9 จอม 

อีกหนึ่งจุดสำคัญของวัดนี้คือ เป็นที่ตั้งของ เสาสะดือเมืองเชียงราย ทั้งหมด 108 ต้น สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาหรือ 5 รอบ และยังเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พญามังรายมหาราช” ผู้ทรงสร้างเมืองเชียงรายอีกด้วย

เสร็จจากวัดพระธาตุดอยจอมทอง เป้าหมายต่อไปก็คือ “วัดดอยงำเมือง” ผมปั่นจักรยานคู่ใจผ่านหมู่บ้านบริเวณดอยจอมทองมาไม่ไกล ก็จะเจอทางเข้าวัดดอยงำเมือง 

|| แล้วผมก็ได้กลับมากราบสักการะพระองค์ท่านอีกครั้ง ||


“วัดดอยงำเมือง” เป็นวัดเก่่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย มีความพิเศษตรงเป็นสถานที่ประดิษฐาน สถูป (กู่) ของพญามังรายมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงราย ซึ่งในวันที่ 26 มกราคม ของทุกปี ทางจังหวัดเชียงราย ถือให้เป็น "วันพ่อขุนเม็งรายมหาราช" เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังราย จึงได้จัดพิธีสักการะดวงพระวิญญาณพญามังรายมหาราช ที่วัดดอยงำเมืองแห่งนี้ โดย “งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช” จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 26 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ บริเวณสนามบินเก่า ฝูงบิน 416 จังหวัดเชียงราย


ผมจอดจักรยานไว้ตรงเชิงบันไดทางขึ้นหน้าวัดที่ทำจากอิฐมอญทั้งหมด มีความสวยไม่เหมือนวัดอื่น ตามมาครับผมจะพาขึ้นไปดูด้านบน ออกกำลังขากันสักนิด เดินตามผมขึ้นมาเลยครับ แต่สำหรับท่านไหนขับรถยนต์มา ข้างบนก็มีลานจอดสำหรับ 4-5 คัน 

เมื่อเดินขึ้นมาถึงด้านบนวัด จะเจอพระอุโบสถอยู่เบื้องหน้า ส่วนด้านซ้ายจะเป็นที่ประดิษฐานกู่พญามังรายมหาราช แล้วผมก็ได้กลับมากราบสักการะพระองค์ท่านอีกครั้ง

ได้กลับมาเยือนอีกครั้ง ยังจำได้เมื่อครั้งมากับหลานสาว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มา ตอนนั้นหลานสาวยังเด็กมาก หลังจากกราบสักการะพญามังรายเสร็จแล้ว หลานสาวก็เล่าให้ผมฟังว่า มีคนสวมชุดไทย ตัวใหญ่ๆ คล้ายนักรบ มองมาทางหลานสาวของผม ลองนึกตามดูนะครับว่าหลานสาวผมจะเห็นบุคคลใด (อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ )


หลังจากเที่ยวชมวัดดอยงำเมืองเสร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ วัดพระแก้วเชียงราย ผมเดินลงบันไดกลับมาทางเดิม เห็นฝั่งตรงข้ามเป็นประตูด้านหลังของวัดพระแก้ว แต่วันนั้นประตูปิด ผมเลยต้องปั่นจักรยานลงเนินมาในซอยข้างวัดแทน เพื่อที่จะอ้อมไปเข้าทางประตูหน้าวัด (ระหว่างปั่นลงมาในซอยให้ระวังรถสวนมาข้างหน้ากับรถที่จอดในซอยด้วยนะครับ เพราะเป็นซอยแคบ)

|| พระแก้วมรกต เคยประดิษฐานที่ วัดพระแก้วเชียงราย ||


วัดพระแก้ว ในวันที่ผมไปเยือน มีผู้คนหนาตามากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะมีงานบวช เป็นงานมงคลที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ศูนย์กลางทางการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร อีกทั้งยังมีการจัดงานบวชตาม โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นประจำทุกปี จึงทำให้วัดแห่งนี้มีพระภิกษุสามเณรมากกว่าวัดอื่นในเชียงราย 

บรรยากาศภายในวัด ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย ด้วยมีต้นไม้ที่ให้ร่มเงามากเป็นพิเศษ ด้านในพระอุโบสถมีความสวยงาม มี พระเจ้าล้านทอง เป็นองค์ประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ที่มีความสวยงามยิ่ง และอีกจุดสำคัญเลยก็คือ โฮงหลวงแสงแก้ว ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย 


วัดพระแก้ว ในอดีตเรียกว่า วัดป่าเยี๊ยะ (ป่าเยี๊ยะคือป่าไผ่) เคยเป็นที่ประดิษฐานของ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามพระบรมหาราชวัง 


และอีกหนึ่งสถานที่สำคัญภายในวัดพระแก้ว ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ มาแล้วจะต้องไปชมความสวยงาม คือ หอพระหยก เป็นอาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ พระหยกเชียงราย บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๔



จากนั้น ผมก็ปั่นจักรยานคู่หูออกมาจากวัดพระแก้ว เข้าสู่ ถนนสิงหไคล เพื่อที่จะมุ่งหน้าไป “อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช” ที่ตั้งอยู่บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย บนถนนสายนี้จะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งอยู่หลายหน่วยงาน อาทิ โรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) หรือที่คนเชียงรายเรียก “ป่าไม้ / ป่าไม้เชียงราย” ยังรวมถึง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง วัดพระสิงห์ และ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย หรือที่รู้กันว่าเป็น ลานพระบรมรูป ร.5 หน้าศาลากลางหลังเก่า(หลังแรก) ซึ่งวันนี้ผมขอผ่านสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ไปก่อน ไว้มีโอกาสจะกลับมาเก็บภาพในทริปต่อไป 


|| พามากราบสักการะ พระราชานุสาวรีย์พญามังรายมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงราย ||


เมื่อมาถึงยังอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช สิ่งแรกที่ทำคือ เข้าไปกราบสักการะต่ออนุสาวรีย์พระองค์ท่าน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ผู้กอบกู้และรวมอาณาจักรล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียว  และเป็นผู้สร้างเมืองเชียงราย ให้คนเชียงรายและลูกหลานได้อาศัยอยู่ตราบทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระเมตตาของ “พญามังรายมหาราช” มหาราชแห่งอาณาจักรล้านา


บริเวณรอบๆ ลานอนุสาวรีย์ประดับด้วยแปลงดอกไม้หลากสี ต้นตุง มีกระถางธูปเทียนและดอกไม้สำหรับวางเครื่องสักการะบูชา ที่คนเชียงรายและนักท่องเที่ยวได้มาสักการะและขอพร ผมสังเกตุเห็นรูปปั้นของสัตว์ต่างๆ วางเรียงรายรอบฐานพระอนุสาวรีย์ ซึ่งอาจจะมาจากคนที่เข้ามากราบไหว้ขอพรแล้วสมหวัง จึงได้นำรูปปั้นเหล่านั้นมาถวาย


บริเวณด้านหลังของอนุสาวรีย์จะมีต้นตุงขนาดใหญ่อยู่ 3 ต้น ที่เรียกว่า “ตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติ” แกะสลักลวดลายสวยงาม โดยฝีมือศิลปินชื่อดังของเชียงราย ได้แก่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอาจารย์กนก วิศวกุล เมื่อแสงแดดส่องกระทบ จะปรากฏสีทองสะท้อนออกมาอยู่เบื้องหลังพระอนุสาวรีย์ เป็นภาพที่มหัศจรรย์ยิ่ง


มาถึงครึ่งทางกันแล้วครับกับ “ทริป 1 วัน ปั่นรถถีบเที่ยวเมืองรอง” ของผม หลังจากที่ได้สักการะพระอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชแล้ว ผมก็ปั่นจักรยานเพื่อหาร้านกาแฟบรรยากาศชิวๆ สบายๆ นั่งพักให้หายเหนื่อยสักหน่อย  ผมปั่นย้อนกลับมาทางถนนสิงหไคลอีกครั้ง ต้นฉำฉาขนาดใหญ่สองข้างทางบริเวณหน้าป่าไม้เชียงราย ทำหน้าที่เป็นโล่กันแดดได้อย่างดี  ปั่นมาไม่ไกลก็เจอร้านกาแฟที่ตามหาอยู่ทางซ้ายมือ


ร้านกาแฟในปัจจุบันจะเน้นเป็นร้านแบบน๊อคดาวน์ซะส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เป็นร้านที่ดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีความเรียบ เท่ และดูไม่เบื่อ “ร้านมดนมสด” ก็เป็นอีกหนึ่งร้านเปิดใหม่ที่ได้ความรับความนิยมอย่างมาก ด้วยการใช้สีเหลืองตัดกับสีน้ำตาล ทำให้ดู เก๋ เท่ห์ ลงตัว

ทางร้านจะรับออเดอร์ที่หน้าเคาเตอร์ โดยจะมีป้ายหมายเลขให้ บริเวณร้านมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงมีหลายโซนให้เลือกนั่ง ตั้งแต่โซนหน้าร้าน กลางร้าน หลังร้าน หรือใต้ต้นไม้ จะเลือกโซนไหนก็ตามใจต้องการ

ร้านมดนมสดเป็นส่วนหนึ่งของ มูลนิธิมดชนะภัย งานหลักของมูลนิธิก็คือการช่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อเวลามีภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เพื่อให้พื้นที่ประสบภัยกลับมาเป็นปกติอย่างเร็วที่สุด 

เมนูเด่นของที่ร้านนี้ต้องเป็น “นมสด” อย่างแน่นอน เพราะใช้นมวัวแท้ 100% จึงได้รสชาติที่หวานหอม ขนมปังเนยนม กรอบนอก นุ่มใน ชุ่มฉ่ำเนย และที่สำคัญทุกเมนูที่ร้านนี้ ราคาถูกมาก  ใครที่ผ่านไปผ่านมาต้องแวะร้านมดนมสดครับ 


ร้านนี้ผมแค่รองท้อง เพราะเดี๋ยวจะไปต่อกันที่ “กาดหลวง” แหล่งรวมความอร่อยไว้อย่างมากมาย


“Next station กาดหลวง Station”


“กาดหลวง” หรือกาดหลวงเชียงราย” หรือ ตลาดสดเทศบาล ๑ หรือ ตลาดสดเทศบาลนครเชียงราย หรือแล้วแต่ผู้คนจะเรียก แต่สิ่งแรกที่ผมมาถึง ก็คือ ตามล่าอาหารเหนือต่างๆ เช่น แกงกระด้าง แกงบอน น้ำพริก หมูปิ้ง ไก่ทอด รวมไปถึงผลไม้นานาชนิด ก็มีให้เลือกเยอะแยะมากมาย พ่อค้าแม่ค้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใส น่ารักกันทุกร้าน

 

ถึงเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน แต่เสน่ห์ของกาดหลวง ความดั้งเดิม กลิ่นอายของความเป็นเชียงราย ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน รวมถึงความอร่อยของ ขนมไทยร้านแม่ลา ที่อร่อยไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีทั้งข้าวต้มมัดไส้เค็ม ไส้ถั่วดำ ไส้กล้วย ขนมเทียน ข้าวเหนียวทุเรียน หมี่ผัดโบราณ ยังคงความอร่อยมาถึงทุกวันนี้ แม่ลาจะเริ่มขายตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป แต่ต้องไปเร็วหน่อยนะครับ เพราะของหมดเร็วมาก 

“แกงกระด้าง” ขึ้นชื่อว่าแกงแต่จะไม่มีน้ำแกงเหมือนกับชื่อ นิยมใช้ขาหมูทำ เพราะเป็นส่วนที่มีเอ็นมาก เป็นส่วนที่ทำให้แกงข้น เกาะตัว หรือกระด้างง่าย แต่ปัจจุบันมีการเติมผงวุ้นเย็น เพื่อช่วยให้แกงกระด้างได้ดีและเร็วขึ้น แกงกระด้างมี 2 สูตร คือแบบเชียงใหม่ และแบบเชียงราย สำหรับแกงกระด้างแบบเชียงรายจะใส่เครื่องแกงลงไปขณะต้มขาหมู และจะมีสีส้มจากพริกแห้ง นิยมทานกับข้าวเหนียวในมื้อเช้า

นอกจากนี้ยังมีของพื้นบ้านตามฤดูกาล และอาหารที่อร่อย  ยังเห็นถึงความเป็นกันเองของคนเชียงราย การช่วยเหลือกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้ใครมาเชียงรายแล้วต้องหลงไหล “กาดหลวง” 


ความอร่อยไม่ได้มีแค่ช่วงเย็นเท่านั้นนะครับ แต่เริ่มกันตั้งแต่เช้ามืดเลย ส่วนอาหารยอดนิยมสำหรับคนนอนดึก คงหนีไม่พ้น “ไก่ทอดเที่ยงคืน ”เปิดให้ลูกค้าสายดึกมาโดนอีกด้วย

|| วัดกลางเวียง วัดที่อยู่ใจกลางเมืองเชียงราย ||


อิ่มแล้ว เราก็ไปกันต่อที่ “วัดกลางเวียง” เป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกาดหลวง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงราย ตรงสี่แยกระหว่าง ถนนอุตรกิจ ตัดกับ ถนนรัตนาเขต ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย  และยังเป็นที่ตั้งของ เสาหลักเมืองเชียงราย อีกด้วย
ตามประวัติ “วัดกลางเวียง” สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1975 เดิมชาวบ้าน เรียกว่า วัดจั๋นตะโลก หรือ วัดจันทน์โลก เพราะในวัดเคยมีต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ถือเป็นไม้มงคลใช้บูชาพระตามธรรมเนียมโบราณ จนกระทั่งเมื่อมีการรังวัดเมืองเชียงรายใหม่ และพบว่าวัดแห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองพอดี จึงได้สถาปนา สะดือเวียง หรือ เสาหลักเมือง ขึ้นที่นี่ และยังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดกลางเวียง" จนถึงปัจจุบัน
ภายในวัด ยังมีสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ทรงคุณค่าอีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือ “พระธาตุช้างค้ำ” องค์พระธาตุมีสีขาว มีการประดับจระนำซุ้มด้วยพระพุทธรูปจำนวนมาก และฐานเจดีย์ประดับด้วยช้างทรงเครื่องรายรอบ อันเป็นคติช้างค้ำจุนจักรวาลที่นิยมในเจดีย์สายลังกา ซึ่งจะไม่เหมือนพระธาตุแบบล้านนา ที่มีฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลียม ส่วนฐานสูง และองค์ระฆังเล็ก 


ก้มดูนาฬิกา ใกล้เวลาของการช้อปปิ้งในยามค่ำคืนแล้ว วันนี้ผมจะพาไปเที่ยวที่ ถนนคนเดินเชียงราย  แหล่งช้อปปิ้งยามค่ำคืนของคนเชียงรายทุกเพศทุกวัย บ่ายสี่โมงเย็น เป็นช่วงที่พ่อค้าแม่ค้าทยอยตั้งโต๊ะวางสินค้ากันบ้างแล้ว ตามมาเลยครับแล้วจะพาไปรำวง ^_^


|| ถนนคนเดินเชียงราย ถนนของคนชอบช็อป ||


พอถึงเย็นวันเสาร์เป็นอันรู้กันว่าเชียงรายจะมี “ถนนคนเดินเชียงราย”  เป็นประจำ สายกิน สายช็อป ต้องห้ามพลาดเลยทีเดียว ถนนคนเดินจะตั้งอยู่ที่ถนนธนาลัยสุดสาย แค่เห็นบรรยากาศของคนเดินไปมาก็สนุกแล้ว มองไปสองข้างทางก็มีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า ของแฮนด์เมด ของกินที่นี่ก็มีเยอะมากเช่นกันครับ  


สินค้าสองข้างทางมีหลากหลายจริงๆ บางร้านก็จะเป็นของโบราณบ้าง เป็นศิลปินวาดรูปเหมือนบ้าง แต่ รอยยิ้มของพ่อค้าแม่ค้า เป็นสิ่งที่ได้เห็นตลอดทางของถนนคนเดินเชียงราย 

“ข้าวงาปิ้ง” ที่ย่างบนถ่านจนหอม โรยน้ำอ้อย อร่อยหนึบหนับอย่าบอกใคร  

พ่อค้าแม่ค้าก็ใจดีให้ผมได้ลองทอดทาโกยากิ ยากพอสมควรเลยครับ ผมเลยให้พี่เค้าทอดต่อดีกว่า ถ้าผมยังฝืนทำต่อต้องเละไม่เป็นท่าแน่ๆ เลย 555

|| ตามผมมาจะพาไปรำวง ||
พอเดินมาถึง ลานรำวงย้อนยุค ในช่วงเย็นๆ ก่อนที่จะรำวง จะมีการเต้นลีลาศของคนที่มาเที่ยวเป็นการสร้างสีสัน นอกจากจะสนุกสนานแล้วยังถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ลานนี้จะมีการรำวงแบบพื้นเมืองเชียงราย มีสาวรำวงตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ชุด ท่าเต้น เพลง จะเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยทีเดียว ใครมาแล้วต้องลองไปเต้นสักสองสามเพลงนะครับ บอกได้เลยว่าต้องติดใจ ^_^

|| พาไปดูหอนาฬิกาเปลี่ยนสี  หอนาฬิกาที่สวยที่สุดในประเทศไทย ||
เที่ยวถนนคนเดินเสร็จแล้ว ผมจะพาไปดูความอลังการ และฟังเสียงเพลงเพราะๆ จาก “หอนาฬิกาเปลี่ยนสี” หรือ “หอนาฬิกาเชียงราย” ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนบรรพปราการ ใกล้กับถนนคนเดินเชียงราย ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยศิลปะการก่อสร้างเหมือนกับวัดร่องขุ่น ที่ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นหอนาฬิกาที่สวยที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9  จะบอกเวลาทุกชั่วโมง และในช่วงเวลา 19.00  20.00  21.00 น. ของทุกวัน แสงไฟข้างในจะเปลี่ยนสีพร้อมกับมีเสียงเพลงเชียงรายรำลึก หรือ ดนตรีบรรเลง ดังลั่นใจกลางเมือง ให้นักท่องเที่ยวและผู้สัญจรผ่านไปมาได้ชมศิลปะอันวิจิตรแห่งนี้ แสดงแสงสีเสียงตระการตา ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

การที่ได้ปล่อยใจไปกับเสียงเพลงอันไพเราะ ปล่อยใจไปกับความสวยงามของหอนาฬิกาที่กำลังเปลี่ยนสีอย่างสวยงาม ความเหนื่อยของวันนี้หายไปเลยทีเดียวครับ เชียงรายไม่ได้มีดีแค่อากาศ เชียงรายไม่ได้มีดีแค่ของอร่่อย แต่เชียงรายมีความสวยงามของวัฒนธรรม ความสวยงามทางธรรมชาติ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนท้องถิ่น ไม่ว่าฤดูไหน “เชียงรายยินดีต้อนรับคุณเสมอ”

ก่อนที่ผมจะลาไปวันนี้ “อย่าลืมกด Like กด Share Facebook fanpage เชียงรายโฟกัสด้วยนะคับ

จะได้ไม่พลาดเรื่องราวดีๆของเรา

----------------------------------------------------------

ขอบคุณและสวัสดีครับ